วันที่ 24 มกราคม เภสัชกรรายหนึ่ง ได้ยกเคสผู้ป่วยเตือนถึงอันตรายของการซื้อสมุนไพรรับประทานเอง โดยระบุว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระดับค่าไต CKD 2 รับประทาน เก๋ากี๊ดำ (black Goji Berry) ชงน้ำดื่มและเคี้ยวเม็ด วันละ 15 เม็ด มา 1 เดือน โดยสั่งซื้อจากเฟซบุ๊ก
ก่อนจะเดินทางมาโรงพยาบาลด้วยอาการวิงเวียนศีรษะ ถ่ายเหลว 1 ครั้ง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน 3 ครั้ง ระดับ cr. 6.22 GFR = 6.46 CKD stage 5 แพทย์วินิจฉัย “ไตวายเฉียบพลัน” ต้องรักษาในโรงพยาบาล 7 วันจนค่าไตกลับมาเป็น CKD3a สมุนไพรที่โฆษณาตามสื่อออนไลน์ต่างๆ อาจส่งผลต่อการทำงานของไตได้
สงสารคนไข้เลยค่ะ กินเพื่อบำรุงสายตา อยากลดน้ำตาลในเลือด แต่ไตวายเฉียบพลัน” เจ้าของโพสต์ระบุเพิ่มเติม
น้าที่บ้านก็ชอบสั่งยาต้มกิน แต่ก่อนค่าไต 15% ตอนนี้เหลือ 5% ต้องฟอกไตวันเว้นวัน ทานผักผลไม้เป็นสิ่งที่ดีแต่แหล่งที่มาคุณภาพการเก็บรักษาต้องมีมาตรฐาน เหนื่อยจะบอกมากเลยค่ะพี่หมอ แม่ที่บ้านเชื่อแต่หมอ (เดา) ในกลุ่มไลน์ สรรหามาสารพัดสมุนไพร บทความจากไหนใครแชร์มา เชื่อหมดยกเว้นคนในบ้าน บางทีไป รพ.ก็เถียงหมอ หนูเหนื่อยมากเลย อยู่ดีๆ ก็ได้กลุ่มเป้าหมายเพิ่ม
ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย อาจารย์สาขาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มศว ได้โพสต์สืบเนื่องจากกรณีดังกล่าว ความว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเกิดไตวายเฉียบพลัน (AKI on top CKD) หลังรับประทานเก๋ากี๊ดำ ทั้งเป็นชาชงและรับประทานเม็ดเก๋ากี๊ดำ จำนวน 2 ราย กลไกที่คาดว่าทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน
สำหรับเคสซ้ายมือ เกิดจากการรับประทานมากเกินไป ทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน สำหรับอาการท้องเสียคาดว่าเกิดจากชาชงไม่สะอาดหรือชงเก็บไว้นานเกิน ทำให้เชื้อแบคทีเรียขึ้น ส่งผลให้ท้องเสีย จากอาการทั้งหมดผู้ป่วยจึงมีภาวะขาดน้ำ ทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลง ไตวายเฉียบพลัน (prerenal AKI)
แต่โดยปกติถ้าจากสาเหตุเท่านี้ ไม่ควรทำให้เกิดไตวายรุนแรงขนาดนี้ จึงคาดว่าเกิดจากผู้ป่วยรับประทานมา 1 เดือนก่อนหน้า ซึ่งเก๋ากี๊ดำมีฤทธิ์ต้านการอักเสบผ่านทาง COX-2 inh. การรับประทานเป็นประจำ จะส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลงค่าการทำงานของไต (eGFR) จะค่อยๆ ลดลง พอร่างกายขาดน้ำร่วมด้วย จึงอาการมาก
อีกเคสที่พบเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 ดื่มชาชงเก๋ากี๊ดำประจำ ประมาณ 3 เดือน (รูปด้านขวา) แล้วเกิดไตวายเฉียบพลัน กรณีนี้เกิดจากกลไก COX-2 inh.
กลไกอื่นที่อาจทำให้เกิดพิษต่อไต คือ การปนเปื้อนโลหะหนักแคดเมียมและตะกั่ว ซึ่งมีรายงานในเก๋ากี๊แดง
ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ป่วยใช้ไม่ได้นำเข้าอย่างถูกกฎหมาย จึงไม่มีทะเบียนและฉลากภาษาไทย ทำให้ไม่ได้ตรวจว่ามีการปนเปื้อนโลหะหนักและยาฆ่าแมลงเกินขนาดที่กำหนดหรือไม่ รวมทั้งไม่ได้ตรวจการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
ดังนั้นไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีทะเบียน อย. ไม่ว่าจะหิ้วเข้ามาจากประเทศใดก็ตาม เพราะอาจไม่ปลอดภัย