ตามปกติแล้วเรามักจะคุ้นชินกับมะเร็งที่เกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่สำคัญ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่อีกหนึ่งอวัยวะที่สำคัญ แต่เราอาจจะไม่ได้พูดถึงกันบ่อยๆ คือ “หลอดอาหาร” ที่ทำให้ผู้ที่ป่วยโรคนี้มีอาการทรมานไม่น้อยไปกว่ามะเร็งในส่วนอื่นๆ
มะเร็งหลอดอาหาร คืออะไร?
มะเร็งหลอดอาหาร คือโรคมะเร็งที่พบเนื้อเยื่อที่มีเซลล์เจริญเติบโตผิดปกติที่บริเวณเนื้อเยื่อชั้นใน เนื้อเยื่อมีขนาดโตออกสู่ผนังด้านนอก หลอดอาหารเป็นส่วนที่อยู่ใกล้เคียงกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ถ้ามะเร็งกระจายผ่านผนังหลอดอาหารจะสามารถเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอก และอวัยวะใกล้เคียง มะเร็งหลอดอาหารยังสามารถกระจายสู่ปอด ตับ กระเพาะอาหาร และส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้
ชนิดของมะเร็งหลอดอาหาร
- Squamous cell carcinoma เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังหลอดอาหาร มักเกิดที่ส่วนต้นและส่วนกลางของหลอดอาหาร
- Adenocarcinoma เกิดจากส่วนที่เป็นต่อมในส่วนปลายของหลอดอาหาร
ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งหลอดอาหาร
- อายุ 45-70 ปี
- เพศชายเสี่ยงกว่าเพศหญิง 3 เท่า
- สูบบุหรี่ ยิ่งสูบนาน สิ่งเสี่ยงมาก
- ดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งหลอดอาหารชนิด Squamous cell carcinoma
- เป็นโรคกรดไหลย้อน หรือภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง
- หลอดอาหารเกิดภาวะ Barrett’s esophagus ที่กรดในกระเพาะอาหารทำลายเซลล์บุผนังหลอดอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งชนิด Adenocarcinoma
- รับประทานอาหารที่มีผัก ผลไม้ และแร่ธาตุต่างๆ ต่ำเกินไป
- เป็นโรคอ้วน
- พันธุกรรม
อาการของโรคมะเร็งหลอดอาหาร
สัญญาณอันตราย “มะเร็งหลอดอาหาร” มีดังนี้
- เสียงแหบ สะอึกเรื้อรัง ไอเรื้อรัง
- กลืนอาหารแล้วเจ็บ อาจปวดร้าวไปด้านหลัง
- น้ำหนักลดลงผิดปกติ โดยไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก
- มีภาวะโลหิตจาง อาเจียนเป็นเลือด หรือขับถ่ายมีสีดำ
- กลืนลำบาก รู้สึกแน่นอก หรือลำคอ โดยเริ่มมีอาการหลังจากทานอาหารแข็ง อาหารนิ่ม อาหารเหลว ไปจนถึงน้ำตามลำดับ และอาจสำลัก หรืออาเจียนเอาอาหารที่เคยทานไปแล้วออกมา
วิธีรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร
- ผ่าตัด ทั้งการผ่าตัดนำเนื้องอกที่มีขนาดเล็กมากออกไป การผ่าตัดหลอดอาหารออกบางส่วน และการผ่าตัดต่อหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร
- ฉายรังสี เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง อีกทั้งยังอาจใช้บรรเทาภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารที่ลุกลาม
- เคมีบำบัด ใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง อาจใช้ก่อนหรือหลังการผ่าตัด สามารถใช้รักษาร่วมกับการฉายแสง ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน
วิธีป้องกันโรคมะเร็งหลอดอาหาร
- งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดเวลา
- เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพิ่มการทานผักผลไม้ให้มากขึ้น
- รักษาโรคกรดไหลย้อน หรือภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรังให้อาการดีขึ้นโดยเร็วที่สุด