ด.ช.เปิดน้ำดื่มก่อนจ่ายเงิน แคชเชียร์บังคับปรับ 10 เท่า แม่ถามกลับเชือดนิ่มๆ แพ้อับอาย

แม่พาลูกชายไปซุปเปอร์มาร์เก็ต เด็กเปิดขวดน้ำดื่มก่อนจ่ายเงิน แคชเชียร์บังคับปรับ 10 เท่า งานนี้คนยกย่องวิธีแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดของคุณแม่

ล่าสุดมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน คุณแม่คนหนึ่งพาลูกชายไปซุปเปอร์มาร์เก็ต ระหว่างนั้นเด็กกระหายจึงหยิบขวดน้ำจากชั้นวางมาเปิดดื่ม ในตอนนั้นผู้เป็นแม่ไม่ได้คิดอะไรมาก เพียงตั้งใจจะนำขวดน้ำไปชำระเงินพร้อมสินค้าอื่นๆ ในภายหลัง อย่างไรก็ดี เมื่อไปที่เคาน์เตอร์ชำระเงิน แคชเชียร์ก็บอกว่า “การดื่มน้ำโดยไม่จ่ายเงินเรียกว่าขโมย ตามกฎของซุปเปอร์มาร์เก็ต ค่าชดเชยต้องเป็น 10 เท่าของมูลค่าสินค้า”

เมื่อได้ยินว่าต้องจ่ายค่าชดเชย 10 เท่า ในตอนแรกคุณแม่ก็ขอโทษสำหรับพฤติกรรมของลูก และบอกว่าแม้ว่าลูกของเธอจะดื่มน้ำไปครึ่งขวด แต่เธอก็ไม่ได้หนีออกจากซุปเปอร์มาร์เก็ต และไม่ได้ตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงการชำระเงิน ดังนั้น จึงเชื่อว่าไม่สามารถถือเป็นการขโมยได้ อย่างไรก็ตาม แคชเชียร์ยังคงไม่เห็นด้วย พร้อมเรียกร้องให้ชดเชย 10 เท่าของมูลค่าสินค้า

ในเวลานี้ผู้เป็นแม่ก็เริ่มถามกลับว่า มีกฎหมายข้อใดสำหรับการร้องขอค่าชดเชย 10 เท่านั้นหรือไม่ จากนั้นจึงหยิบโทรศัพท์ออกมาบันทึกคลิปวิดีโอ โดยขอให้พนักงานหันหน้าเข้าหากล้องเพื่อทำการร้องขอค่าชดเชยซ้ำอีกครั้ง เพื่อนำคลิปนี้ไปสอบถามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราคาสินค้า ในเวลานี้แคชเชียร์จึงไม่กล้าที่จะทำให้เรื่องราวยุ่งยากสำหรับตนเองอีกต่อไป

ท้ายที่สุดผู้เป็นแม่ก็ชำระเงินสินค้าตามจริง แม้ว่าเรื่องจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็คุ้มค่าแก่การไตร่ตรอง เนื่องจากมีหลายวิธีและขั้นตอนในการจัดการกับข้อขัดแย้ง ที่สำคัญคือต้องรู้จักควบคุมอารมณ์เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ เนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ฝ่ายหนึ่งสูญเสียการควบคุมอารมณ์ ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่อาจแก้ไขได้

นอกจากจะเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องให้ความรู้แก่เด็กๆ สอนเรื่องการชำระเงินเมื่อซื้อสินค้าแล้ว ยังต้องใช้เหตุผลอธิบายเพื่อช่วยปกป้อง “เกียรติ” รักษาความภาคภูมิใจในตนเองของลูกเมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็น “ขโมย” ทั้งนี้ การสื่อสารที่ดีถือเป็นบทเรียนที่จำเป็น เราไม่สามารถเป็นคนที่ยอมแพ้ตลอดเวลา และไม่สามารถเป็นคนที่พยายามจะเอาชนะอยู่เสมอ แต่ต้องรู้วิธีจัดการกับสิ่งต่างๆ อย่างยืดหยุ่น

ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกันนี้ พ่อแม่ควรสอนลูกอย่างไร?

1. ให้ความรู้แก่เด็กๆ ว่า “การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์” เป็นสิ่งที่เด็กๆ ต้องรู้ หากพาลูกไปซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อของเป็นประจำและบอกพวกเขาว่า “ไม่สามารถเอาของไปโดยไม่จ่ายเงิน” โดยผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างในการให้ความรู้แก่บุตรหลานด้วย

2. ปล่อยให้เด็กจ่ายเงินเองจำนวนเล็กน้อยจนเป็นนิสัย  เพราะเด็กส่วนมากไม่รู้ว่าจะต้องจ่ายเงินเมื่อซื้อสินค้า เพราะไม่เคยต้องจ่ายเงินด้วยตัวเอง ดังนั้น ผู้ปกครองสามารถปล่อยให้บุตรหลานฝึกจ่ายเงิน เพื่อให้เข้าใจว่าพวกเขาจำเป็นต้องจ่ายเงินสำหรับสิ่งที่พวกเขาต้องการ

ในตอนแรกพ่อแม่สามารถเป็นแบบอย่างได้ เพราะเด็กชอบเลียนแบบพฤติกรรมผู้ใหญ่ และการจ่ายเงินทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ ต่อมาเมื่อเด็กๆ สามารถเข้าใจกฎเกณฑ์ได้ชัดเจน ว่าการชำระเงินเป็นสิ่งที่ต้องทำ พวกเขาจะจ่ายเงินให้แคชเชียร์ทันทีหลังจากซื้อของ

3. ปกป้องความภาคภูมิใจในตนเองของเด็ก เพราะไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือคนโต ทุกคนล้วนมีความนับถือตนเอง หากในที่สาธารณะ เด็กถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นขโมย มันจะทิ้งความมืดมิดทางจิตใจไว้ในใจเด็กได้อย่างง่ายดาย ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการด้านสุขภาพจิตของเด็กในอนาคต

ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นเรื่องราวข้างต้น สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำคือปกป้องลูก ยอมรับความผิดพลาด ช่วยเด็กๆ ขจัดแนวคิดเรื่องการขโมย และพูดคุยทำความเข้าใจกับคู่กรณีว่า ”เด็กไม่อยากขโมย เขาแค่ไม่ได้รับการสอนเรื่องเงินจากฉัน” พร้อมสัญญาว่าจะให้ความรู้แก่ลูกให้ดีขึ้นในอนาคต จากนั้นต้องให้เด็กขอโทษด้วย