นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบในหลักการ “ข้อเสนอการพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพของนโยบายล้างไต ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30) จากคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข” ซึ่งเป็นการเห็นชอบทั้งการเพิ่มสัดส่วนบริการล้างไตทางช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่ให้ได้อย่างน้อย 50% การควบคุมค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังให้ไม่เกิน 12% ของงบประมาณบัตรทองในระยะเวลา 5 ปี (ไม่เกิน 15% ในระยะเวลา 10 ปี) และการลดจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังรายใหม่ที่เลือกวิธีล้างไตให้ต่ำกว่าจำนวน 1.6 แสนรายในระยะเวลาเวลา 10 ปี โดยการป้องกันและการชะลอไตวายเรื้อรังในระยะยาว+
พร้อมกันนี้ บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบให้นำ “นโยบายล้างไตทางช่องท้องวิธีแรก” (PD First) กลับมาใช้และให้ดำเนินการโดยทันที เนื่องจากตั้งแต่ปี 2565 จากการติดตามข้อมูลผู้ป่วยล้างไตในระบบพบว่า มีผู้ป่วยฟอกไตมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องมีจำนวนลดลด โดยข้อมูลการเสียชีวิตพบว่า ผู้ป่วยฟอกไตมีอัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประมาณ 5,500 คนในช่วง 2 ปี ถือว่าเป็นจำนวนมากกว่าที่ควรจะเป็น
ขณะที่การล้างไตผ่านช่องท้องอัตราการเสียชีวิตยังคงเดิม ขณะที่ด้านการใช้ทรัพยากรดูแล ผู้ป่วยฟอกไตใช้ทรัพยากรการดูแลที่มากกว่าผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง จะส่งผลให้ค่าบริการบำบัดทดแทนไตในระบบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 ของงบประมาณบัตรทองในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 20 และร้อยละ 30 ในอีก 5 ปี และ 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ยังกำหนดให้งบบริการบำบัดทดแทนไตเป็นแบบปิด (Global Budget) เช่น กำหนดวงเงินให้ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบจัดบริการของกองทุนบัตรทอง ในปีงบประมาณ 2568 ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ระบบการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังมีความยั่งยืน