ปภ. เตือนด่วน 11 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 23-26 ก.พ.

ปภ. เตือนด่วน 11 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 23-26 ก.พ.

วันที่ 23 ก.พ. 2568 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 11 จังหวัดภาคกลางและภาคใต้ ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 23 – 26 ก.พ. 2568

 

ปภ. เตือนด่วน 11 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 23-26 ก.พ.ปภ. เตือนด่วน 11 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 23-26 ก.พ.

โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยเป็นพิเศษ ในวันที่ 24 ก.พ. 2568 พร้อมจัดทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างเคร่งครัด

โดย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ได้ติดตามสภาวะอากาศ พิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับได้มีการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ แนวโน้มพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักมาก และการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน พบว่า มีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 23 – 26 กุมภาพันธ์ 2568 แยกเป็น

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 23 – 26 กุมภาพันธ์ 2568

  • ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4 อำเภอ (อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย)

ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่

  • จังหวัดชุมพร 6 อำเภอ (อำเภอเมืองชุมพร อำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน อำเภอละแม และอำเภอท่าแซะ)
  • จังหวัดสุราษฎร์ธานี 10 อำเภอ (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอดอนสัก อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอพุนพิน อำเภอพระแสง อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน และอำเภอเวียงสระ)
  • จังหวัดนครศรีธรรมราช 13 อำเภอ (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอนบพิตำ อำเภอพรหมคีรี อำเภอหัวไทร อำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอปากพนัง อำเภอลานสกา อำเภอถ้ำพรรณรา และอำเภอทุ่งใหญ่)
  • จังหวัดพัทลุง 7 อำเภอ (อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้ว อำเภอปากพะยูน อำเภอกงหรา และอำเภอศรีนครินทร์)
  • จังหวัดสงขลา 9 อำเภอ (อำเภอเมืองสงขลา อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอรัตภูมิ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาหม่อม)
  • จังหวัดปัตตานี 10 อำเภอ (อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอไม้แก่น อำเภอกะพ้อ อำเภอยะรัง อำเภอสายบุรี อำเภอยะหริ่ง อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอปะนาเระ อำเภอหนองจิก และอำเภอมายอ)
  • จังหวัดยะลา 6 อำเภอ (อำเภอเมืองยะลา อำเภอกรงปินัง อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา และอำเภอรามัน)
  • จังหวัดนราธิวาส 11 อำเภอ (อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอบาเจาะ อำเภอศรีสาคร อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอยี่งอ อำเภอระแงะ อำเภอรือเสาะ อำเภอจะแนะ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอตากใบ)

***โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน) ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568

  • ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี 3 อำเภอ (อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอบางละมุง และอำเภอศรีราชา) และจังหวัดระยอง 5 อำเภอ (อำเภอเมืองระยอง อำเภอบ้านค่าย อำเภอเขาชะเมา อำเภอปลวกแดง และอำเภอนิคมพัฒนา)

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 11 จังหวัดภาคกลางและภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 17 จันทบุรี ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอุทกภัยได้

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัยให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่ พร้อมกันนี้ให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย และพร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีหากเกิดสถานการณ์ขึ้น ตลอด 24 ชั่วโมง

และขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด

 

  • Beta

Beta feature

  • Beta

Beta feature