ทำความรู้จักวัคซีนมะเร็ง การป้องกันที่เริ่มได้ก่อนจะสาย

วิกฤตมะเร็ง! ไทยพบผู้ป่วยใหม่กว่า 140,000 รายต่อปี เสียชีวิตเกือบแสน ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งมีอยู่รอบตัว ปรับพฤติกรรม-ฉีดวัคซีนป้องกัน ลดความเสี่ยงได้ก่อนที่จะสาย

(เรียบเรียงโดย กัญญาณัฐ อาศัย)

โรคมะเร็งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับต้นที่สร้างความสูญเสียและผลกระทบต่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเผยว่าในแต่ละปี ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 140,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ราว 80,000 ราย นับเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขและครอบครัวของผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้ชายไทย ได้แก่ มะเร็งตับ และ มะเร็งปอด ซึ่งมักมีปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ส่วนในผู้หญิงไทย มะเร็งเต้านม และ มะเร็งปากมดลูก ยังคงเป็นชนิดที่พบมาก โดยส่วนหนึ่งมาจากการขาดการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และการละเลยการป้องกันไวรัสที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ไวรัสเอชพีวี (HPV)

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง

พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง เช่น

  • พฤติกรรม: การบริโภคอาหารแปรรูป ปิ้งย่าง หรืออาหารที่มีไขมันสูง การสูบบุหรี่ และการดื่มสุรา
  • สิ่งแวดล้อม: มลพิษทางอากาศ การสัมผัสสารเคมี หรือการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และพยาธิ
  • พันธุกรรม: คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมากขึ้น

แม้โรคมะเร็งจะเป็นภัยร้ายแรง แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพ เช่น

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ และอาหารที่มีไฟเบอร์สูง
  2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  4. ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้การรับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็ง ก็เป็นอีกทางที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ ปัจจุบันในประเทศไทยมีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง ได้แก่

  1. วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี (HPV): ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก มะเร็งอวัยวะเพศ มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งช่องปาก
  2. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี: ช่วยป้องกันมะเร็งตับและโรคตับแข็ง
  3. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ: ลดความเสี่ยงการอักเสบเรื้อรังในตับ

สำหรับเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กระทรวงสาธารณสุขได้ให้บริการวัคซีน HPV ฟรี ซึ่งถือเป็นการลงทุนในสุขภาพระยะยาวของประชากร

นอกจากนี้มนุษยชาติยังมีความหวังเพิ่มในอนาคต เมื่อรัสเซียออกมาประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งชนิด mRNA ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกและหยุดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง วัคซีนนี้ได้ผ่านการทดลองทางคลินิกและแสดงให้เห็นผลที่น่าพอใจ

ส่วนในประเทศไทย ทีมวิจัยหลายทีมที่กำลังพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งที่เหมาะสมกับชนิดของมะเร็งในกลุ่มคนไทย โดยกระบวนการพัฒนาอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งแม้ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย แต่ถือเป็นความหวังใหม่ที่อาจเปลี่ยนแปลงการรักษาโรคมะเร็งในอนาคต