19 พฤษภาคม วันอาภากร รำลึกองค์บิดาของทหารเรือไทย

วันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันอาภากร เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

19 พฤษภาคม วันอาภากร รำลึกองค์บิดาของทหารเรือไทย วันอาภากร ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

19 พฤษภาคม วันอาภากร19 พฤษภาคม วันอาภากร

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงได้รับสมัญญาเป็น องค์บิดาของทหารเรือไทย ซึ่งทหารเรือยกย่องและเทิดทูนพระเกียรติคุณอย่างสูงสุด เนื่องจากพระองค์ทรงริเริ่มวางรากฐานกิจการทหารเรือและนำความเจริญมั่นคงและรุ่งเรืองมีสมรรถภาพสู่กองทัพเรือเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป ทำให้ทัพเรือไทยทันสมัยมีมาตรฐาน และเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศ กองทัพเรือจึงกำหนดให้ 19 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น วันอาภากร ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ เพื่อเป็นการเทิดทูน เผยแพร่พระเกียรติคุณ และแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อ 19 ธันวาคม 2423 เป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์ที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง

ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ ทรงมีจุดประสงค์แรงกล้าจะฝึกให้ทหารเรือไทยเดินเรือทะเลได้อย่างชาวต่างประเทศ และสามารถรบทางเรือได้ เนื่องจากอดีตประเทศไทยต้องว่าจ้างชาวต่างชาติมาเป็นผู้บังคับการเรือโดยตลอด ภายหลัง พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สำเร็จการศึกษา และเข้ารับราชการทหารเรือแล้ว พระองค์ได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบวิธีปฏิบัติในโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ และริเริ่มการใช้ ระบบการปกครองบังคับบัญชา ตามระเบียบการปกครองในเรือรบ คือแบ่งให้นักเรียนชั้นสูงบังคับบัญชาชั้นรองลงมา

นอกจากนี้ยังทรงจัดเพิ่มวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือขึ้นเพื่อให้สำเร็จการศึกษา สามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้แก่ การเดินเรือ ดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ อุทกศาสตร์ เรขาคณิต พีชคณิต ฯลฯ

เมื่อ พ.ศ. 2462 พระองค์ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ โดยนำ เรือหลวงพระร่วง จากประเทศอังกฤษ เข้ามายังกรุงเทพมหานคร นับเป็นครั้งแรกที่นายทหารเรือไทยเดินเรือได้ไกลข้ามทวีป

ที่สำคัญ พระองค์ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญที่ทำให้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อ 20 พ.ย. 2449 ทำให้กิจการทหารเรือมั่นคง (กองทัพเรือยึดวันดังกล่าวเป็น วันกองทัพเรือ)

รำลึกองค์บิดาของทหารเรือไทย 19 พ.ค. 2567รำลึกองค์บิดาของทหารเรือไทย 19 พ.ค. 2567

จากที่พระองค์ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการณ์ไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ เพื่อสร้างเป็นฐานทัพเรือ เนื่องจากทรงพิจารณาว่าอ่าวสัตหีบเป็นอ่าวขนาดใหญ่น้ำลึกเหมาะแก่การฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโดได้ และเกาะน้อยใหญ่ที่รายล้อมรอบสามารถบังคับคลื่นลมได้ดี อีกทั้งเรือภายนอกเมื่อแล่นผ่านพื้นที่จะไม่สามารถมองเห็นฐานทัพได้

ด้านการแพทย์ ทรงศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังและใช้เวลาหลังทรงเกษียณเสด็จไปรักษาโรคแก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าเป็นคนไทยหรือคนจีน จนกระทั่งชาวจีนย่านสำเพ็งซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณเรียกพระองค์ท่านว่า “เตี่ย” (พ่อ) ซึ่งต่อมาทหารเรือได้เรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” ขณะที่คนไข้ชาวไทยมักเรียกพระองค์ว่า “หมอพร”

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงประชวร และสิ้นพระชนม์ ในขณะที่ประทับอยู่ที่หาดทรายรี ปากน้ำเมืองชุมพร เมื่อ 19 พฤษภาคม 2466 เวลา 11.40 ยังความโศกเศร้ามาสู่บรรดาทหารเรือยิ่งนัก

19 พฤษภาคม วันอาภากร รำลึกองค์บิดาของทหารเรือไทย19 พฤษภาคม วันอาภากร รำลึกองค์บิดาของทหารเรือไทย