วันที่ 5 มกราคม 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งทีมตรวจการสุดซอย นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม และนายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบ บริษัท ซี เอช เอช รีไซเคิล จำกัด จ.สมุทรสาคร โดยมี พ.ต.อ.อภิสัณฐ์ ไชยรัตน์ ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย
พบมีการลักลอบประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ครอบครองวัตถุอันตรายขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 1,200 ตัน พบเครื่องจ่ายไฟฟ้าสำหรับเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มอก. และพบของกลางบางส่วนที่คาดว่านำมาจากบริษัท ทีแอนด์ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด จ.ปราจีนบุรี ที่ถูกกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งปิดไปตั้งแต่เดือน ก.ย.67 เนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535
สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จึงบังคับใช้มาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.โรงงานฯ สั่งให้บริษัท ซี เอช เอช รีไซเคิล จำกัด หยุดประกอบกิจการ และยึดอายัดของกลางทั้งหมด พร้อมแจ้งข้อหาและดำเนินคดีฐานกระทำผิด พ.ร.บ.โรงงานฯ ดังนี้
1.ตั้งโรงงานและประกอบกิจการจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ,
2.เปลี่ยนแปลงเครื่องจักรโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ เป็นความผิดตามมาตรา 19 อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
3.ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยังได้แจ้งข้อหาในส่วนของเครื่องจ่ายไฟฟ้าไม่มีเครื่องหมาย มอก. มีโทษตามมาตรา 55 จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อหาร่วมกันลักลอบเคลื่อนย้ายทำลายของกลาง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปและปรับตั้งแต่ 40,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ