คนขับรถแท็กซี่ วัย 43 ปี กินกระเทียมวันละ 1 หัว ติดต่อกัน 3 เดือน หวังรักษาโรคกระเพาะ ไปตรวจสุขภาพ พบผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง
นายจางชุน 43 ปี เป็นคนขับแท็กซี่ในประเทศจีน ด้วยงานที่ยุ่งมาก เขาจึงมีนิสัยการกินที่ไม่เป็นเวลา นายจางมักจะงดมื้ออาหารบ่อย ๆ เพื่อรับผู้โดยสารมากขึ้น ทำให้เขามีอาการปวดท้องและรู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหารบ่อยครั้ง
เมื่ออาการปวดท้องไม่ดีขึ้น จางชุนจึงไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลเมื่อ 3 เดือนก่อน ผลตรวจพบว่าเขามีแผลในกระเพาะอาหารและติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) แพทย์แนะนำให้เขาปรับพฤติกรรมการกินและรับประทานยารักษา
อย่างไรก็ตาม นายจางเห็นว่าการกินยาตามเวลานั้นยุ่งยากและกระทบต่อการทำงานขับแท็กซี่ เขาจึงแอบเลิกกินยาและหาวิธีรักษาเองที่บ้าน
เขาได้อ่านบทความบนโซเชียลมีเดียที่บอกว่ากระเทียมมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อและต้านการอักเสบที่ดี รวมถึงสามารถป้องกันมะเร็งได้ นายจางจึงตัดสินใจกินกระเทียมดิบวันละหัวเพื่อ “รักษาโรคกระเพาะ” ของตัวเอง
ผลการตรวจสุขภาพ หลังผ่านไป 3 เดือน ทำให้ทุกคนประหลาดใจ
หลังจากกินกระเทียมเป็นเวลา 3 เดือน นายจางพบว่าอาการปวดกระเพาะไม่ได้บรรเทาลง แต่กลับแย่ลงเรื่อย ๆ จึงต้องกลับไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกครั้ง ผลการตรวจชี้ว่าแผลในกระเพาะของเขารุนแรงขึ้นมาก จนแพทย์สั่งให้เขาเข้ารักษาในโรงพยาบาล
ผลการวินิจฉัยทำให้นายจางตกใจอย่างมาก เขาถามแพทย์ว่า “ผมนึกว่าการกินกระเทียมช่วยลดการอักเสบและรักษาแผลในกระเพาะได้ ทำไมอาการถึงแย่ลง?”
cottonbro studio
คำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ
ดร.กง เจี้ยนจาง รองหัวหน้าแผนกทางเดินอาหาร โรงพยาบาลกลางเจิ้งโจว ประเทศจีน อธิบายว่า กระเทียมเป็นเพียงอาหารชนิดหนึ่ง ไม่ได้มีสรรพคุณในการรักษาโรค การกินกระเทียมไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรในร่างกายของนายจาง หรือรักษาแผลในกระเพาะได้
นอกจากนี้ การที่นายจางเลิกกินยา และหันมากินกระเทียมทุกวันเพื่อรักษาโรค ยังทำให้การรักษาล่าช้า และส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษาอีกด้วย
ดร.กง เจี้ยนจาง กล่าวต่อว่า กระเทียมเป็นเครื่องปรุงที่เราคุ้นเคย และมีสารอาหารหลายอย่างที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสารอัลลิซิน (allicin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงวิตามิน B1, B2, C และฟรุกแทน (fructan) อัลลิซินไม่ได้เพียงแค่สร้างรสเผ็ดร้อนเฉพาะตัวให้กระเทียม แต่ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่ที่แสดงประโยชน์ของกระเทียม เช่น การลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด และป้องกันมะเร็ง ส่วนใหญ่ทำในห้องทดลอง และยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมในคนเพื่อยืนยันผลเหล่านี้
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญ ยังกล่าวว่า กระเทียมมีสารฟรุกแทน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินอาหารและกระเพาะ การกินกระเทียมมากเกินไปอาจทำให้เยื่อบุกระเพาะเสียหาย และก่อให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก ท้องอืด หรือท้องไส้ปั่นป่วนได้
สำหรับกรณีของนายจาง ซึ่งมีอาการแผลในกระเพาะอาหารอยู่แล้ว ประกอบกับการที่เขาไม่ยอมรักษาด้วยยาและกินกระเทียมวันละหัว จึงทำให้อาการของเขาทรุดหนักลง
จากกรณีของนายจาง ดร.กง เจี้ยนจาง แนะนำว่า เพื่อสุขภาพที่ดี ทุกคนไม่ควรใช้กระเทียมแทนวิธีการรักษาโรคที่ผ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เพราะกระเทียมเป็นเพียงอาหารธรรมดา ไม่ได้มีสรรพคุณวิเศษอย่างที่ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียกล่าวอ้าง