จี้เร่งเคลียร์พื้นที่ ภาคประชาสังคม-นักธุรกิจ-นักวิชาการเชียงราย ชงข้อเสนอให้นายกฯ หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจ .

ภาคประชาสังคม-นักธุรกิจ-นักวิชาการเชียงราย ชงข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาหลังภัยพิบัติ จี้เร่งเคลียร์พื้นที่ให้จบโดยเร็วก่อนเปิดเมือง1 พ.ย.-จัดกิจกรรมใหญ่ท่องเที่ยวให้ทันฤดูกาลหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

วันที่ 26 ก.ย.2567 ที่ จ.เชียงราย มีการประชุมของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจและภาควิชาการ เพื่อหารือถึงสถานการณ์การแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมเชียงราย มีนาย ภาคภูมิ ผลพิสิษฐ์ ประธานหอการค้าจ.เชียงราย นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ร่วมเป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) หอการค้าจังหวัดเชียงราย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ และสื่อมวลชน

นางเตือนใจ กล่าวว่า การหารือแลกเปลี่ยนครั้งนี้ เพื่อระดมความรู้ในสถานการณ์และสภาพปัญหาภัยพิบัติเหตุการณ์น้ำกกไหลท่วมเมืองเชียงรายเป็นทะเลโคลน และแนวทางการแก้ปัญหาที่อยากเห็นร่วมกัน โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดวงแลกเปลี่ยนในลักษณะนี้มาแล้ว 1 ครั้ง และยังจะจัดต่อไปอีก ซึ่งจะจัดทำข้อเสนอเบื้องต้นให้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีซึ่งจะมาลงพื้นที่ ว่าควรมีหลักการที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขและการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบได้อย่างไร

“จากการหารือกับชุมชนและองค์กรประชาสังคมเราพบว่าปัญหาหลักๆ คือไม่มีความรู้ หรือข้อมูลต้นน้ำกก น้ำสาย ไม่มีข้อมูลอุทกวิทยา มวลน้ำอยู่เท่าไหร่ จะเดินทางมาถึงท่าตอนเมื่อไหร่ ระบบเตือนภัยอ่อนแอ ประชาชนรู้การเตือนภัยจากโซเชียล มีเดีย แผนจัดการน้ำท่วมอาจจะมี แต่ไม่ได้นำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้การจัดการภัยพิบัติของท้องถิ่นค่อนข้างเข้มแข็งแต่ปัญหาภัยพิบัติครั้งนี้ใหญ่เกินกำลัง ควรประสานความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานอื่น ภาคเอกชน อาสาสมัคร เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งในการให้ความช่วยเหลือมาก หากไม่มีภาคเอกชนจะเดือดร้อนกว่านี้อีก การจัดการข้อมูลผู้ประสบภัยที่ไม่มี ไม่รู้ใครอยู่ตรงไหนได้รับความช่วยเหลืออะไร” นางเตือนใจ กล่าว

ด้านนายภาคภูมิ ประธานหอการค้าเชียงราย กล่าวว่าผลกระทบเกิดขึ้นกับบ้านเรือน พื้นที่เศรษฐกิจ และกลุ่มเปราะบาง ควรแยกประเภทผู้ประสบภัยให้ชัดเจน สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อ.แม่สาย และเมืองเชียงราย น้ำลดแล้วแต่ต้องทำความสะอาดมากกว่า 1 เดือน หลายพื้นที่อยู่ในสภาพแย่มาก

“น้ำพัดมาครั้งนี้ไม่เลือกหน้า ธุรกิจรายใหญ่อาจฟื้นตัวได้ในเวลา 3-6 เดือน แต่รายย่อย SME หลายเจ้าอาจไม่สามารถกลับมาได้อีกเลย แหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจอีกครั้งเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อมีเหตุรัฐบอกจะให้ความช่วยเหลือ แต่สุดท้ายก็ไปจบที่ธนาคารไม่ปล่อยกู้ เพราะธุรกิจสะดุดในช่วงภัยพิบัติ ไม่มีการวิ่งของเงิน จะเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งต้องมีข้อยกเว้น การให้ความช่วยเหลืออาจต้องลดเงื่อนไข เมื่อประสบเหตุภาคธุรกิจต้องฟื้นฟู”นายภาคภูมิ กล่าว

ประธานหอการค้าเชียงรายกล่าวต่อว่า รัฐช่วยได้เรื่องภาษี เช่น ลดหย่อยภาษีโรงเรือนซึ่งคิดตามพื้นที่ที่ทำธุรกิจ ซึ่งธุรกิจขณะนี้ต้องหยุดแน่นอนหลายเดือนก็ไม่ควรคิดภาษี สุดท้ายคือด้านแรงงาน เมื่อปิดธุรกิจแต่ยังต้องจ่ายประกันสังคม จ่ายเงินเดือน หากอุ้มไม่ไหว คนงานก็ต้องตกงาน อยากมีข้อเสนอ เช่น ให้ประกันสังคมเข้ามาช่วย หรือมีกลไกแลกเปลี่ยนแรงงานที่ตกงานให้มาช่วยงานอื่นในช่วงฟื้นฟู

นายกิตติ ทิศสกุล ที่ปรึกษาสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ กล่าวว่าการบริหารจัดการยังไม่เป็นระบบ การช่วยคนดูแลคน อาหาร ยา น้ำลดแล้วต้องมีฟื้นฟู มีองค์กรเข้ามาเยอะแต่ไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ น้ำหลากแบบนี้คนเชียงรายไม่เคยเจอมาก่อน เมื่อน้ำลดลงเห็นความเสียหายมากกว่าที่เคยมีมา น้ำมาเยอะมากเป็นน้ำป่าจากฝั่งพม่า การฟื้นฟูบ้านเรือน สาธารณูปโภคพื้นฐาน ควรจัดพื้นที่ฟื้นฟูก่อน-หลัง ไม่สะเปะสะปะเช่น ทำความสะอาดลดหลั่นตามความสูง

“เรื่องการสื่อสาร หน่วยงานราชการไม่มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คนจะมาช่วยก็ช่วยกันไปตามที่รู้จัก ควรทำให้มีระบบส่งความช่วยเหลือให้ผู้ที่เดือดร้อน สาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า ชาวบ้านไม่ได้อาบน้ำหลายวัน น้ำไม่ไหล กระทบไปทั่วทั้งเขตประปา คนนอกเขตน้ำท่วมก็โดน โรงแรมถูกยกเลิกทัวร์ยุโรปทั้งหมด สะพานขาดไม่มีการบริหารจัดการ 4 สะพานแม่น้ำกกเคลียร์ไม่ได้ คนตกเครื่องเละเทะ ความเชื่อมั่นในการฟื้นเศรษฐกิจ ต้องมีไทม์ไลน์ หน่วยงานราชการสามารถประเมินได้ มีประธานชุมชน มีการเบิกจ่าย รายการความเสียหายรู้อยู่แล้ว มาตรการของรัฐ เทศบาลจ่ายให้ก่อน 2,500 บาท การฟื้นฟูสาธารณูปโภค ถนน ควรใช้งบเร่งด่วนของแต่ละกระทรวง”นายกิตติ กล่าว

นายกิตติ กล่าวด้วยว่า เราวาง ไทม์ไลน์ ว่า 1 พฤศจิกายน เปิดเชียงราย การฟื้นฟูทุกอย่างต้องเสร็จ ให้เปิดการท่องเที่ยวเชียงราย มาตรการลดภาษีต่างๆ ระดม อปท.อบต.ศึกษาดูงานพื้นที่เพื่อให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ นางนงเยาว์ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ กล่าวว่าเหตุการณ์เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเราทำกันเองช่วยเหลือกันเองเราเกือบลืมภาครัฐไปเลย ช่วยกันทำข้าวกล่องแจกผู้ประสบภัย ครึ่งเดือน 50,000 กล่องแล้ว ไม่มีภาครัฐมาช่วย ภาคเอกชนพร้อมร่วมการฟื้นฟูเชียงราย โดยเชียงรายยังสามารถท่องเที่ยวได้หลายจุด จัดคอนเสิร์ตเพื่อแสดงน้ำใจ ภาคเอกชนพร้อมมากในการจัดงานเหล่านี้

ขณะที่ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมเชียงราย กล่าวว่ามีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ มาตรการป้องกันและเยียวยาผู้ประกอบที่ประสบปัญหาอุทกภัย 1. บูรณาการหน่วยงานภาครัฐทั้งกรมชลประทาน กรมโยธาธิการ กรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานทหารในพื้นที่ ในการบริหารจัดการน้ำและป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ โดย 1.1 หน่วยงานรัฐบูรณาการการทำงาน ส่งต่อข้อมูลสถานการณ์น้ำและผู้ประสบภัยอย่างเป็นระบบ เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลดให้กลับสู่สภาพปกติ โดยให้ทันกับฤดูการท่องเที่ยวของจังหวัดในปีนี้ 1.2 พัฒนาระบบแจ้งเดือนระดับน้ำและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่แบบเรียลไทม์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ

2. ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการซ่อมแชมเครื่องจักร ฟื้นฟูโรงงานและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยยกเว้นอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก และหลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MLR/MRR -2และไม่นำไปเป็นประวัติเครดิตบูโร 3. ออกมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมประจำปี ค่าสาธารณูปโภคและภาษี อาทิ ภาษีนิติบุคคล ภาษีบำรุงท้องถิ่น ภาษีป้าย ภาษีที่ดินฯ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) ค่าน้ำ ค่าไฟ

ทั้งนี้ในวันที่ 27 ก.ย.2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะจะเดินทางมาตรวจราชการที่จ.เชียงราย โดยจะมีการปรนะชุมบูรณาการแผนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่เชียงราย ณ ห้องประชุมท่าอาการยานแม่ฟ้าหลวง และเดินทางไปมอบของให้เด็กนักเรียนที่โรงเรียนเทศบาล 6 ขณะที่ภาคประชาสังคม นักธุรกิจและนักวิชาการ จะยื่นข้อเสนอในการฟื้นฟูเมืองให้นายกรัฐมนตรี