กฎหมายใหม่อินเดีย! ลงโทษการถ่มน้ำลาย-ปัสสาวะลงอาหาร บังคับใช้เดือนนี้ ฝ่าฝืนปรับ 4 หมื่น เกิดกระแสวิจารณ์เดือด สู่ความขัดแย้งทางศาสนา
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 จากกรณีวิจารณ์เดือดทั่วโลกโซเชียล เมื่อมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ พ่อค้า-แม่ค้าถ่มน้ำลายลงในอาหาร ยิ่งไปกว่านั้นยังมี คลิปที่แม่บ้านกำลังผสมปัสสาวะลงในอาหารที่เธอเตรียม กลายเป็นกระแสวิจารณ์เดือดไปทั่วโลก
จนรัฐบาลอินเดีย ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ออกกฎหมายใหม่ ลงโทษการถ่มน้ำลาย-ปัสสาวะลงอาหาร ฝ่าฝืนปรับ 4 หมื่นบาท ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะนำไปสู่กระแสความขัดแย้งทางศาสนาในประเทศอินเดีย
รายงานจากสื่อต่างประเทศ เผย รัฐอุตตราขัณฑ์ และ รัฐอุตตรประเทศ 2 รัฐของอินเดีย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคภารติยชนตะ (BJP) ได้มีการประกาศแผนบังคับใช้บทลงโทษ ในฐานความผิดทำให้อาหารปนเปื้อนด้วยการถ่มน้ำลาย ปัสสาวะ และสิ่งสกปรกอื่น ๆ มีโทษทั้งจำและปรับ เริ่มบังคับใช้ในเดือนนี้
โดยทั้ง 2 รัฐ มีแนวทาง ดังนี้
- รัฐอุตตราขัณฑ์ กำหนดค่าปรับสูงสุด 100,000 รูปี (แปลงเป็นเงินไทยราว 40,000 บาท)
- รัฐอุตตรประเทศ กำลังเตรียมออกกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อแก้ไขปัญหานี้
จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง : จากกฎหมายสู่ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา
จากประเด็นคลิปดราม่าดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารในรัฐทั้งสองอย่างหนัก ยิ่งไปกว่านั้นคอมเมนต์ในหลายวิดีโอยังมีการโจมตีชาวมุสลิม
โดยมีคอมเมนต์โจมตีว่า “ผู้หญิงที่ใส่ปัสสาวะลงในอาหารเป็นชาวมุสลิม” แต่ตำรวจระบุภายหลังว่าเธอเป็นชาวฮินดู
แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กฎหมายและบทลงโทษที่เข้มงวดนี้มีความจำเป็นเพื่อป้องกันการกระทำที่ไม่ถูกสุขอนามัยเกี่ยวกับอาหาร
แต่ผู้นำฝ่ายค้านและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแสดงความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิผลของกฎหมายเหล่านี้ และเตือนว่ากฎหมายอาจถูกใช้ในทางที่ผิดเพื่อต่อต้านชุมชนใดชุมชนหนึ่งโดยเฉพาะ
ความขัดแย้งทางศาสนาที่มากขึ้น
ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของอินเดียได้ระงับคำสั่งของรัฐบาลรัฐอุตตราขัณฑ์และอุตตรประเทศ ที่ออกมาตรการให้ผู้ขายอาหารตามเส้นทางกานวาร์ ยาตรา (Kanwar yatra) ซึ่งเป็นเส้นทางการแสวงบุญประจำปีของศาสนาฮินดู แสดงชื่อและรายละเอียดประจำตัวของเจ้าของร้านอย่างชัดเจน
ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงระบุว่า คำสั่งนี้มุ่งเป้าหมายไปที่ชาวมุสลิมอย่างไม่เป็นธรรมและส่งผลกระทบในทางลบต่อธุรกิจของพวกเขา
ล่าสุด เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ตำรวจในเมืองบาราบังกีของรัฐอุตตรประเทศได้จับกุมนายโมฮัมหมัด เอียร์ชาด เจ้าของร้านอาหารในข้อหาถ่มน้ำลายในแผ่นแป้งโรตีระหว่างเตรียมอาหาร
รายงานจากหนังสือพิมพ์ฮินดูสถาน ไทม์ส (Hindustan Times) ระบุว่า เอียร์ชาดถูกตั้งข้อหาก่อความวุ่นวายและบ่อนทำลายความสงบและความสามัคคีทางศาสนา
“ทุคญิฮาด” (thook-jihad)
กลุ่มคนชาตินิยมฮินดูจำนวนมากเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “ทุคญิฮาด” (thook-jihad) ซึ่งเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากคำว่า “เลิฟญิฮาด” (love-jihad) เป็นคำที่กลุ่มหัวรุนแรงฮินดูใช้กล่าวหาชายมุสลิมที่แต่งงานกับหญิงชาวฮินดูเพื่อเปลี่ยนศาสนาของพวกเธอ
ในลักษณะเดียวกัน คำว่า “ทุคญิฮาด” จึงเป็นคำที่ใช้กล่าวหาว่า ชาวมุสลิมพยายามทำให้ชาวฮินดูแปดเปื้อนโดยการถ่มน้ำลายในอาหาร
คำแถลงการณ์จากรัฐบาลอินเดีย
ผู้นำฝ่ายค้านทั้งสองรัฐซึ่งปกครองโดยพรรค BJP ได้วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายใหม่ โดยระบุว่า ข้อกำหนดเหล่านี้อาจถูกใช้เพื่อต่อต้านชาวมุสลิม และกล่าวหาว่ารัฐบาลใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาอื่น ๆ
ทั้งนี้ มานิช สยานา เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านอาหารในรัฐอุตตราขัณฑ์ ได้ออกมาชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า คำสั่งของรัฐบาลมีเป้าหมายเพียงเพื่อให้มั่นใจว่าอาหารปลอดภัยต่อการบริโภค
เพิ่มรายงานมาตรการล่าสุด เริ่มมีการให้ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้านอาหารและตำรวจได้เริ่มเข้าตรวจสอบร้านอาหารโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และขอให้ผู้คนสวมหน้ากากและถุงมือ รวมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดในสถานที่ตรวจ
ประเด็นอ่อนไหวในอินเดีย ศาสนา และอาหาร
อาหารและวิถีการบริโภคอาหารเป็นประเด็นอ่อนไหวในอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับศาสนาและระบบวรรณะของประเทศ กฎเกณฑ์และข้อห้ามเกี่ยวกับอาหารมักนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชุมชนและสร้างความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน
ดังนั้น แนวคิดเรื่อง “ความปลอดภัยของอาหาร” จึงพัวพันกับศาสนา โดยบางครั้งถูกนำมาใช้เพื่อให้เหตุผลต่อเหตุการณ์ปนเปื้อนอาหารที่เกิดการกล่าวหากัน
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีความขัดแย้งทางศาสนาในประเทศอินเดีย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชุมชนมุสลิมก็ตกเป็นเป้าของข้อกล่าวหา หลังมีการเผยแพร่วิดีโอ เรื่องการถ่มน้ำลาย จาม หรือเลียสิ่งของเพื่อแพร่เชื้อไวรัส