อย. ไล่เก็บตัวอย่าง “องุ่นไชน์มัสแคท” ตรวจซ้ำอีกครั้ง หากพบปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ดำเนินคดีทันที พร้อมแจงมาตรการตรวจ “ผัก-ผลไม้” นำเข้า ปี’68 ตรวจเพิ่ม 10 เท่าตัว
28 ต.ค. 67 – ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวในประเด็นมาตรการการกำกับและดูแลคุณภาพผักและผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศโดย อย. ว่า
ประเทศไทยนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศจำนวนมาก อย.จึงมีมาตรการในทุกกองด่านอาหารและยา ซึ่งมีการกำหนดค่ามาตรฐานปริมาณสารตกค้างในผักและผลไม้ ที่ได้ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดูว่าแต่ละสารไม่ควรเกินเท่าไหร่ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
“ถ้าเป็นสารที่เราไม่รู้จักมาก่อน ก็จะมีการกำหนดค่าที่ต่ำไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย ส่วนแง่ของกฎหมาย เมื่อพบสารต่างๆ ก็จะมีการตรวจว่าพบมากหรือน้อย เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่
ดังนั้น การนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศ จะต้องมีการตรวจที่กองด่านอาหารและยา เป็นจุดสกัดสำคัญก่อนเข้าประเทศ ซึ่งในปี 2566 มีการคัดกรองเบื้องต้นที่ด่านมากกว่า 1 หมื่นรายการ และมีการส่งตรวจอย่างละเอียดโดยห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ปีละ 500 กว่ารายการ
ทั้งนี้ ผลการตรวจเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์อยู่ร้อยละ 35 ซึ่ง อย. ได้สั่งไม่ให้นำเข้าในประเทศ พร้อมดำเนินคดีกับผู้นำเข้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ อย. ดำเนินการ และเมื่อสินค้าเข้ามาในประเทศแล้ว อย. ก็ยังมีการสุ่มตรวจเพิ่มเติมด้วย” นพ.สุรโชค กล่าว
นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเฝ้าระวังในปี 2567 ก็จะเพิ่มเติมทั้งในส่วนของกองด้านอาหารและยา สินค้าที่นำเข้ามาในประเทศแล้ว และสินค้าที่จำหน่ายในประเทศ โดยในปีหน้าจะมีการเพิ่มการตรวจสินค้าที่กองด่านอาหารและยา โดยส่งตรวจในแลป จาก 500 รายการ เป็น 4,000 – 5,000 รายการ และเมื่อรวมกับการตรวจสินค้าในประเทศแล้ว เท่ากับว่า เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า นอกจากนี้ จะหารือกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อกำหนดชนิดของสารปนเปื้อนเพิ่มเติมให้เหมาะสม ซึ่งจะรวมถึงสารต่าง ๆ ที่มีการใช้และต่างประเทศ แต่ไม่มีในบ้านเรา ก็จะมีการนำข้อมูลเพิ่มเติมมาด้วย
“สิ่งสำคัญเมื่อซื้อผักและผลไม้มาแล้ว คือการล้างให้สะอาดตามคำแนะนำ ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนว่า ทำให้สารปนเปื้อนน้อยลงไปอีก ดังนั้นสารปนเปื้อนที่มีปริมาณเกินหรืออาจจะไม่เกิน การล้างจะทำให้ปริมาณลดลงไปอีก ถ้าเจอน้อยอยู่แล้ว อาจจะไม่พบเลย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” นพ.สุรโชค กล่าว
เมื่อถามถึงประเด็นที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) แถลงผลการตรวจหาสารปนเปื้อนใน “องุ่นไชน์มัสแคท” นพ.สุรโชค กล่าวว่า อย. จะดำเนินการสุ่มตัวอย่างตามที่ไทยแพนเปิดเผยข้อมูล เพื่อนำไปตรวจใหม่อีกครั้ง เพราะตามกฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้จำหน่าย จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ อย. เป็นผู้เก็บตัวอย่างไปตรวจ ซึ่งเราได้ดำเนินการไปแล้ว
ถามต่อว่า กรณีที่ อย. ระบุว่า การตรวจโดยไทยแพนที่มีการพบสารปนเปื้อนจริง แต่ปลอดภัยสามารถล้างและนำมากินได้ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ประเด็นนี้มี 2 มิติ คือ ในมิติของกฎหมาย ถ้ามีการใส่สารที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ซึ่งมีการห้ามใช้ในประเทศไทยไปแล้ว อันนี้ผิดกฎหมายแน่นอน และถ้ามีการใส่สารปนเปื้อนที่เกินค่ามาตรฐาน ก็ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน
ต่อมาคือ มิติความปลอดภัย คือสารปนเปื้อนบางอย่างที่ติดไปกับผักผลไม้ ถ้าสารนั้นไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย หรือเกินไปเล็กน้อย ถ้ามีการล้างผักผลไม้ก่อนรับประทานก็สามารถทำให้สารต่าง ๆ ลดน้อยลงไป อย่างสารปนเปื้อนที่เราไม่รู้จักมาก่อน มีการกำหนดปริมาณความปลอดภัยไว้ต่ำมาก คือ 0.01 ppm ฉะนั้น ถ้าเกิดเกินในแง่ของกฎหมายก็ถือว่าผิด แต่ในแง่ของความปลอดภัย ต้องไปดูว่าปริมาณความปลอดภัยอยู่ที่เท่าไหร่
“แต่ในแง่ของปริมาณสารที่เกินมาแต่ไม่มาก ถ้ามีการล้างก่อนรับประทานก็สามารถรับประทานได้ ดังนั้นในแง่ของกฎหมายก็ต้องดำเนินการ ส่วนในแง่ของความปลอดภัย ถ้าสารนั้นเกินปริมาณค่ามาตรฐานไปไม่มาก ผู้บริโภคก็สามารถล้างสารออกไปได้” เลขาฯ อย. กล่าว
เมื่อถามถึงประเด็นสารปนเปื้อนที่ซึมเข้าไปในผลไม้ นพ.สุรโชค กล่าวว่า การซึมของสารจะขึ้นอยู่กับชนิดของสารนั้นๆ ไม่ใช่ทุกชนิดจะซึมเข้าต้นไม้ เช่น ซึมไปที่ ราก ลำต้น ดอกหรือใบ
ส่วนการซึมเข้าเนื้อผลไม้นั้นถือว่าน้อยมาก เพราะการออกแบบชนิดสารต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะหวังผลให้มีการซึมไปที่เปลือก หรือดอก เพื่อให้สารนั้นไปป้องกันแมลง และมีการป้องกันเรื่องของความปลอดภัย สารนั้นก็จะไม่ซึมเข้าไปในเนื้อผลไม้ เพื่อไม่ให้เกิดพิษ
“อย่างในองุ่นที่เป็นข่าว แต่จริงๆ อยากพูดโดยรวม ว่าผลไม้ที่มีเปลือกหนา ก็จะซึมยาก เปลือกบางก็จะซึมง่าย แต่ธรรมชาติของเปลือกองุ่นที่เรียบเนียน เมื่อล้างก็จะทำความสะอาดสารออกได้ง่ายขึ้น” นพ.สุรโชค กล่าว
นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า มาตรการที่กองด่านอาหารและยา เป็นจุดสกัดที่สำคัญ ซึ่งจะดูใน 2 ความเสี่ยง คือ 1. บริษัทที่นำเข้ามีความเสี่ยง ก็จะมีการกักสินค้าไว้ก่อนจนกว่ามีการพิสูจน์ว่าสินค้านั้นไม่มีปัญหา
และ 2. ของบางอย่างที่เจอสารปนเปื้อนเยอะ หรือประเทศที่ส่งมามีความเสี่ยง ก็จะกักไว้ก่อน แต่ด้วยผักผลไม้ที่เสียง่าย เมื่อก่อนเราจะไม่ได้กักเอาไว้ ทำให้ทราบข้อมูลในภายหลังว่ามีปัญหา ครั้งต่อไปก็จะมีการกำหนดเป็นประเทศหรือบริษัทที่มีความเสี่ยง แต่มาตรการปัจจุบัน สามารถกักสินค้าไว้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพื่อรอผลการตรวจที่รวดเร็ว ถ้าพิสูจน์แล้วปลอดภัยก็สามารถปล่อยผ่านมาได้
“เราเน้น 2 สาร ที่แบนไปแล้วคือ คลอร์ไพริฟอส และ พาราควอต และยังมีสารอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ โดยกำหนดสารที่จะต้องตรวจอยู่ที่ 130 รายการ ตอนนี้ก็มีการขยายเพิ่ม อย่างแลปของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ตรวจได้ 250 สาร ซึ่งบางครั้งก็มีความจำเป็นในการตรวจแลปของเอกชน แต่เราก็จะเน้นในประเทศที่ส่งมา
แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกสาร หากผักผลไม้อะไร ใช้สารอะไรมาก ก็จะตรวจหาสารนั้น หรือประเทศไหนใช้สารอะไรมาก ก็จะต้องตรวจหาสารนั้น อย่างบางประเทศเขาไม่ได้มีการแบน 2 สารที่ไทยแบน เราก็จำเป็นต้องตรวจหาสารนั้นให้มากขึ้น” นพ.สุรโชค กล่าว