ศปช. เตือน เตรียมรับมือ ฤทธิ์พายุจ่ามี ฝนถล่มหลายจังหวัด ช่วง 26-29 ต.ค

เตือน เตรียมรับมือ ฤทธิ์ พายุจ่ามี ฝนถล่มหลายจังหวัด ช่วง 26-29 ต.ค. ด้าน กรมชลฯ ปรับเพิ่มระบายน้ำเขื่อนป่าสัก แต่ไม่กระทบประชาชนท้ายเขื่อน

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 26-29 ต.ค. คาดการณ์พายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี” เคลื่อนตัวใกล้เข้าชายฝั่งเวียดนามมากขึ้น แต่ยังไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีเมฆเพิ่มขึ้น ฝนตกหนักบางแห่ง

โดยเฉพาะทางด้านตะวันออกของภาคอีสาน (จ.สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ) ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มขึ้นในวันที่ 27 ต.ค. ในส่วนของภาคใต้ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก โดยเฉพาะด้านฝั่งอันดามัน

หลังจากเกิดสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ จ.ภูเก็ต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสำรวจพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณเทศบาล ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนบางวาด อ.กะทู้

โดยในวันนี้ (26 ต.ค.) จะมีการประชุมหารือแนวทางบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ รับมือในจุดเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงฤดูฝนของภาคใต้ให้ได้มากที่สุด

สำหรับสถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี หลังจากที่มีปริมาณน้ำสะสมจากฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำป่าสัก เพื่อบริหารจัดการน้ำสอดให้คล้องกับสถานการณ์ และควบคุมระดับน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

โดยจะทยอยปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนี้ วันที่ 27 ต.ค. จะเพิ่มการระบายจากอัตรา 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และวันที่ 28 ต.ค. จะเพิ่มการระบายจากอัตรา ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ซึ่งการระบายน้ำดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 50-60 เซนติเมตร โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจะยังอยู่ในลำน้ำ และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน และหากมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จะรีบแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบเป็นระยะต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศปช. รับทราบรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ถึงข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงจ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยและคลื่นลมแรง 7 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ 2.การสร้างการรับรู้แก่ประชาชน

3.การดูแลสถานที่ท่องเที่ยว 4.กรณีมีแนวโน้มเกิดขึ้นลมแรงขึ้นซัดชายฝั่ง 5.การเผชิญเหตุ กรณีฝนตกหนัก ฝนตกสะสม รวมถึงคลื่นซัดชายฝั่ง 6.กรณีสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ และ 7.เมื่อสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายแล้ว

ส่วนการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยใน จ.เชียงใหม่ นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ และกำลังพลที่เดินทางมาจากอำเภอต่างๆ ได้ลงพื้นที่ดำเนินการการฟื้นฟู ทำความสะอาด และเก็บถุงกระสอบทรายออกจากถนน ทางเท้า และบ้านเรือนประชาชนที่ยังคงตกค้างหลังจากสถานการณ์น้ำลดลง

ปัจจุบันยังนำออกจากพื้นที่ไม่หมด จึงได้มีการระดมเจ้าหน้าที่ช่วยขนย้ายออกจากถนน ทางเท้า และหน้าบ้านเรือนประชาชน เพื่อทำความสะอาดและไม่กีดขวางทางสัญจร ถุงกระสอบทรายจะถูกขนย้ายไปไว้ตามที่ดินของหน่วยงานรัฐในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ และประชาชนที่มีความต้องการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อไป เช่น การซ่อมแซมและการก่อสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ ใช้ในภาคการเกษตร หรือนำไปใช้ทำเป็นฝายกั้นน้ำเตรียมพร้อมสำหรับช่วงหน้าแล้ง