จิราพร รับ ถอนใบอนุญาต ดิไอคอน ไม่ทันสัปดาห์นี้ ย้ำ ต้องทำให้รอบคอบ ยัน ไม่มีธงกลั่นแกล้งใคร พร้อมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ลั่น เรียกสอบหมด ไม่เว้นนักการเมือง
เมื่อเวลา 08.35 น. วันที่ 23 ต.ค. 2567 ที่พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระลานพระราชวังดุสิต (ลานพระบรมรูปทรงม้า) น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าคดีดิไอคอนกรุ๊ป จะเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างไร ว่า เข้าใจว่าปัญหานี้สะสมมาหลายปี แต่เพิ่งมาปะทุกันในช่วงนี้ ทำให้พี่น้องประชาชนตั้งคำถามถึงการทำงานของสคบ.
โดยขอแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ ตั้งแต่มีการร้องเรียนมายังสคบ. ตั้งแต่ปี 2561 ทางสคบ.ได้ตรวจย้อนกลับไปและไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะสคบ.มีข้อจำกัดในทางกฎหมายของการตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ตอบกลับมาบางหน่วยงาน
อย่างแรกที่อยากให้ประชาชนมั่นใจ คือ ทางรัฐบาล ตน และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เอาจริงในการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการคนนอก ไม่ใช่คนในสคบ. มาตรวจกันเอง
แต่มีทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และมีสำนักงานอัยการ มาร่วมตรวจสอบ ซึ่งแต่ละคนเป็นผู้คร่ำหวอดเรื่องการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง และประธานคณะกรรมการก็เป็นผู้ที่มากประสบการณ์ในการทำคดีใหญ่หลายคดี เป็นคนตรงไปตรงมา
ฉะนั้น ในส่วนนี้ตนคิดว่า ไม่มีอะไรต้องลำบากใจ และไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เรื่องความมุ่งมั่นความตั้งใจที่อยากทำให้เรื่องนี้คลี่คลาย และหลังจากมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง อีกประเด็นหนึ่ง คือ เรื่อง การหาแนวทางป้องกันระยะยาว ซึ่งเราไม่ได้ดูเพียงข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่ได้หามาตรการวิธีการในเชิงนโยบาย แนะนำให้สคบ.ไปดำเนินการต่อ
ดังนั้น กฎหมายต่างๆ ที่สคบ.ถืออยู่ที่ล้าหลังหรือล้าสมัยไม่ตอบโจทย์ คณะกรรมการนี้จะช่วยแนะนำ และแก้ปัญหานี้ด้วย รวมถึงจะต้องมีการรื้อการทำงานครั้งใหญ่ เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น เพื่อให้องค์กรโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม คนที่ตั้งใจทำงานเป็นข้าราชการน้ำดีก็มี แต่ส่วนไหนที่เป็นปัญหาเราต้องแก้ไขและให้ความเชื่อมั่นกับประชาชน
เมื่อถามว่าคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมีการรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นมาแล้วหรือไม่ น.ส.จิราพร กล่าวว่า คณะกรรมการชุดใหญ่ที่ตั้งขึ้นมา ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีก 2 ชุด โดยชุดหนึ่งจะดูการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งจะนำพยานหลักฐาน พยานวัตถุ และพยานบุคคลมาเชื่อมโยงกัน
โดยการประชุมนัดแรกต้องหาข้อมูลองค์ประกอบแวดล้อมทั้งหมด เพื่อรายงานกับคณะกรรมการชุดใหญ่ และจะได้กำหนดว่าจะต้องเชิญบุคคลหรือหน่วยงานไหนเข้ามาให้ข้อมูล ส่วนอนุกรรมการอีกชุดหนึ่งจะดูเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสคบ. ซึ่งเมื่ออนุกรรมการทำงานครบ 1 สัปดาห์ ตนจะมีการรายงานให้คณะกรรมการชุดใหญ่ได้รับทราบ
เมื่อถามถึงการพิจารณาถอนใบอนุญาตบริษัทดังกล่าว น.ส.จิราพร กล่าวว่า ตนได้สั่งการสคบ.ให้ทำงานให้เร็วที่สุด ซึ่งที่เคยให้ข้อมูลไปว่าอยู่ระหว่างการเชิญบริษัทมาให้ข้อมูล ทั้งตัวบอส ดารา แต่ในระหว่างการสอบสวนได้มีการจับกุม และขณะนี้กลายเป็นผู้ต้องหาไปแล้ว ฉะนั้น เป็นขั้นตอนที่สคบ. ต้องเข้าไปร่วมงานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสอบสวนข้อมูลนำมาประกอบการพิจารณาในการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป
เมื่อถามว่าสำหรับการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตคาดว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ และจะมีการประสานพูดคุยกับบอสที่อยู่ในคุกหรือไม่ ซึ่งทางทนายระบุว่าหากทางสคบ.เพิกถอน ระหว่างที่ยังไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติม จะทำการฟ้องกลับ ในมาตรา 157 กับทางเจ้าหน้าที่ น.ส.จิราพร กล่าวว่า เราจะทำทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย และประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดูแนวทางว่าจะสามารถหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมาประกอบอย่างไรได้บ้าง
น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า ส่วนจะสามารถเพิกถอนใบอนุญาตภายในสัปดาห์นี้ได้หรือไม่นั้น ก็อาจจะไม่ทัน เพราะทุกอย่างมีขั้นตอนตามกฎหมายที่เราต้องทำอย่างรอบคอบ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้เราไม่ได้มีธงที่จะกลั่นแกล้งใคร แต่เราต้องการทำตามข้อมูลข้อเท็จจริงตามหลักฐาน เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
เมื่อถามว่ากรณีนักการเมืองที่ถูกระบุในคลิปเสียง มีสิทธิ์ที่จะเรียกมาชี้แจงหรือไม่ น.ส.จิราพร กล่าวว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบมีสิทธิ์เชิญมาชี้แจงได้ทั้งหมด
เมื่อถามว่านักการเมืองจะสามารถสั่งการสคบ.ได้หรือไม่ น.ส.จิราพร กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอดูข้อเท็จจริง เพราะคณะกรรมการชุดนี้มีการตั้งขึ้นมา เพื่อหาข้อเท็จจริงในส่วนนี้ให้เกิดความกระจ่าง ส่วนการดำเนินการล่าช้าเกินไปหรือไม่นั้น หลังจากที่มีคลิปเสียงปรากฏบนสื่อในวันที่ 10 ต.ค. หลังจากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการคนนอกขึ้นมา ในวันที่ 16 ต.ค. ซึ่งดำเนินการไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์
ซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมการคนนอกก็ต้องมีการหาตัวผู้ที่มีความเหมาะสม แล้วประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ตนมองว่านี่ไม่ใช่ระยะเวลาที่ล่าช้าเกินไป เราก็เร่งทำอย่างดีที่สุดและรอบคอบ