ค่าธรรมเนียมรถติด คืออะไร ประชาชนที่อาศัยและทำงานในย่านสุขุมวิทและสีลม เตรียมพร้อมรับมือกับค่าธรรมเนียมรถติดที่กำลังจะบังคับใช้ ในปี 68 ทีนี้ไปทำความเข้าใจกันค่ะ เริ่มเมื่อไหร่ พื้นที่ไหนบ้าง เช็กเลย
ค่าธรรมเนียมรถติด คืออะไร โดยรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาจราจรที่ติดขัดมานาน และนำรายได้ที่ได้ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสาธารณะ โดยจะเริ่มบังคับใช้ก่อน 2 พื้นที่ คือ สุขุมวิท และสีลม ทีนี้ไปทำความเข้าใจกันค่ะว่า ค่าธรรมเนียมรถติด คืออะไร ดีอย่างไร เราต้องปรับตัวรับมือยังไง ไปดูกันค่ะ
ทำไมต้องจ่ายค่ารถติด นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า จากที่สนข.ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีเป้าหมายเรื่องภาคขนส่งเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมีการศึกษาสำรวจปริมาณจราจรของโครงข่ายถนนที่คาดว่าจะมีการดำเนินการมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion charge) จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่
เส้นทางใน กทม. ที่มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะนำ ค่าธรรมเนียมรถติด มาใช้
- ทางแยก เพชรบุรี-ทองหล่อ (ช่วงถนนเพชรบุรี และ ทองหล่อ) มีปริมาณจราจร 60,112 คัน/วัน
- ทางแยก สีลม-นคราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสีสม) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน
- ทางแยก สาทร-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสาธร) มีปริมาณจราจร 83,368 คัน/วัน
- ทางแยก ปทุมวัน (ช่วงถนนพญาไทและ ถนนพระรามที่ 1 ) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน
- ทางแยก ราชประสงค์ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต) มีปริมาณจราจร 56,235 คัน/วัน
- ทางแยกประตูน้ำ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนราชปรารถ และถนนเพชรบุรี) มีปริมาณจราจร 68,473 คัน/วัน)
ทั้งนี้ ตัวเลขปริมาณจราจรดังกล่าว เป็นการเก็บสถิติการจราจร ในปี 2566 ซึ่งเก็บสถิติ ช่วงเวลา 07.00-19.00 น. โดยหากมีการจัดเก็บ Congestion charge คาดว่าปริมาณจราจรที่เข้าสู่ถนนดังกล่าว จะลดลงไปจากตัวเลขที่มีการสำรวจ
นายปัญญากล่าวว่า ขณะนี้ สนข.เตรียมศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม โดยได้มีความร่วมมือกับ UKPact กองทุนจากประเทศอังกฤษ โดยจะเริ่มการศึกษา ในเดือนธ.ค. 2567 โดยสนข.จะหารือเพื่อให้เร่งสรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Congestion charge ภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ทันกับ นโยบายขยายมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรือง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม