อ.เจษฎ์ แนะวิธีเลือก “ถุงชา” ง่ายๆ หากไม่อยากดื่ม “ไมโครพลาสติก” เป็นของแถม หลังงานวิจัยทำคนทั่วโลกตื่น!
จากกรณีงานงานวิจัยในต่างประเทศ ประเด็นของ “ถุงชา” หรือผงชาที่มาในรูปแบบซองพร้อมชงดื่ม เพียงแค่นำไปละลายในน้ำร้อน สะดวกเหมาะกับวิถีชีวิตคนในยุคปัจจุบัน พบว่ามี “ไมโครพลาสติกหลายล้านชิ้น” ออกมาจากถุงชงชารูปแบบดังกล่าว โดยเฉพาะถุงชาที่ทำมาจากโพลีเมอร์ เรื่องนี้ทำให้ผู้บริโภคต่างรู้สึกตกใจและเป็นกังวล
ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับที่ผมเคยโพสต์เมื่อสัก 6 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้น เป็นงานวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย McGill University ในประเทศแคนาดา ได้ลองศึกษาพบว่า ไมโครพลาสติกอาจจะออกมาจากถุงชา แบบถุงพลาสติกรูปพีระมิด ที่มีขายตามท้องตลาด
นักวิจัยจึงเอาใบชาออกจากถุง แล้วเอาถุงไปแช่น้ำร้อนจัด อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส คล้ายที่ใช้ชงน้ำชา พบว่ามีปริมาณของไมโครพลาสติกออกมาถึง 11.6 พันล้านชิ้น ซึ่งมีปริมาณมากมายมหาศาลกว่าที่เคยตรวจพบในอาหารใดๆ ข้อสรุปในครั้งนั้นคือ ถ้ากังวลว่าจะดื่มน้ำชาที่มีไมโครพลาสติกเยอะๆ เข้าไป ก็ให้หลีกเลี่ยงชายี่ห้อที่ใช้ “ถุงชาทำจากพลาสติก” และไปใช้ชนิดที่ทำจากกระดาษแทน
แต่งานวิจัยใหม่จากประเทศสเปน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Chemosphere ก็มีการใช้ถุงชาชนิดที่เราคิดว่ามันเป็นถุงกระดาษ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเส้นใยเซลลูโลสที่เคลือบพลาสติก และเมื่อเอาไปแช่น้ำร้อน (พร้อมปั่นกวนด้วย) ก็พบว่า มันกลายเป็นไมโครพลาสติก (คือเป็นชิ้นเซลลูโลสผสมพลาสติก) ออกมาจำนวนมาก เหมือนกัน!
ซึ่งจากผลลัพธ์ที่ได้ ก็อาจจะทำให้คนที่รักการดื่มน้ำชา เป็นกังวลขึ้นได้ ว่าจะมีอนุภาคพลาสติกเข้าไประบบทางเดินอาหารของเรา แต่ๆ ถึงกระนั้น จริงๆ แล้วก็ยังไม่มีงานวิจัยทางระบาดวิทยาใดๆ ที่เป็นหลักฐานว่า การดื่มชานั้นจะนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งซึ่งชักนำโดยไมโครพลาสติก และถ้าการดื่มน้ำชาชงจากถุงชา จะนำไปสู่โรคหรือผลร้ายใดๆ ก็ควรจะมีข้อมูลให้เห็นบ้างแล้ว เนื่องจากมีการบริโภคชาที่มาจากถุงชาชนิดดังกล่าว (ที่ทำให้เกิดไมโครพลาสติก) กันมานานมากแล้ว
ส่วนคำแนะนำตอนนี้ ก็คล้ายเดิมคือ ถ้ามีความกังวล ก็ให้เปลี่ยนไปใช้ถุงชาชนิดที่การันตีว่าไม่มีพลาสติกเป็นส่วนผสม หรือใช้การชงจากใบชาโดยตรงครับ