อัปเดตรายชื่อ โรงพยาบาลประกันสังคม 2568 เพิ่มใหม่ 7 แห่ง รวมทั้งหมด 271 แห่ง เช็กที่นี่
นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุถึงผลการดำเนินงานสำนักงานประกันสังคม 2567 ว่า จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมล่าสุดกว่า 24.80 ล้านคน ประกอบด้วยมาตรา 33 จำนวน 12.07 ล้านคน มาตรา 39 จำนวน 1.72 ล้านคน มาตรา 40 จำนวน 11.01 ล้านคน
สำนักงานประกันสังคม จ่ายสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม 7 กรณี ให้กับผู้ประกันตนไปแล้ว 38.58 ล้านครั้ง จำนวน 112,829.93 ล้านบาท และกองทุนเงินทดแทน จำนวน 1,821.25 ล้านบาท รวมสิทธิประโยชน์จากทั้ง 2 กองทุน จำนวน 114,651.18 ล้านบาทในส่วนของเงินลงทุนกองทุนประกันสังคมมีเงินสมทบสะสม กว่า 2.6 ล้านล้านบาท
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลต่างๆ
1.ยกระดับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ได้แก่
จัดทำโครงการ SSO 515 : 5 โรค 15 วัน เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนไม่ให้อาการของโรค มีความรุนแรงมากขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการพักฟื้น สามารถใช้สิทธิได้ที่โรงพยาบาลกว่า 76 แห่ง ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาและหัตถการ 5 โรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง นิ่วในไตและถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูกหรือรังไข่ ผลการดำเนินงาน (มกราคม – พฤศจิกายน 2567) ผู้ประกันตนเข้ารับการทำหัตถการแล้ว จำนวน 16,166 ราย
-เพิ่มสิทธิประโยชน์และด้านบริการทางการแพทย์ อาทิ เพิ่มสิทธิผู้ป่วยโรคไต สามารถฟอกไตด้วยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis : APD) , ปรับหลักเกณฑ์ การเตรียมหลอดเลือดหรือสายสวนหลอดเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ,เพิ่มสิทธิการตรวจ Sleep TEST และการรักษาด้วยเครื่อง CPAP, เพิ่มการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ 3 รายการ (กะโหลกศีรษะเทียม การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยพลาสมาคุณภาพสูง การผ่าตัดใส่ลูกตาเทียม (ลูกตาปลอมเฉพาะบุคคล)
เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพ
จากรายการตรวจพื้นฐาน 14 รายการ “รู้ทันโรค ด้วยการตรวจสุขภาพ” โดยตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการและเขตชุมชน ดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. – 30 พ.ย. 67 มีผู้รับบริการ จำนวน 365,491 ราย
เพิ่มการเข้าถึงกรณีทันตกรรม ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทันตกรรมด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่แบบเชิงรุกในสถานประกอบการ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 2567 มีผู้รับบริการ จำนวน 25,262 คน
ปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาล “กรณีเจ็บในงาน” ขั้นต้นให้กับลูกจ้าง โดยนายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น เดิม วงเงินขั้นต้น 50,000 บาท ปรับเพิ่มเป็น 65,000 บาท
2. สร้างการรับรู้งานประกันสังคมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จัดการประชุมวิชาการประกันสังคม ในหัวข้อ “SSO Sustainable for All เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นของพวกเราทุกคน” เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารและเสถียรภาพของกองทุน แนวทางการพัฒนาทางการแพทย์ การลงทุน ระบบบำนาญประกันสังคม แนวทางสร้างความยั่งยืน และรับฟังข้อเสนอแนะ
เพิ่ม 7 รพ.เข้าร่วมประกันสังคม
3. โรงพยาบาล(รพ.)ใหม่เข้าเป็นเครือข่ายประกันสังคม
โดย เลขาธิการสปส. ระบุว่า ในปี 2568 ยังไม่มีรพ.ออกจากประกันสังคม โดยมีสถานพยาบาลประกันสังคมทั้งหมด 271 แห่ง เป็นรพ.รัฐบาล 174 แห่ง และรพ.เอกชน 97 แห่ง ซึ่งมีรพ.ที่สมัครใหม่ จำนวน 7 แห่ง เป็นรพ.รัฐ 4 แห่ง และรพ.เอกชน 3 แห่ง คือ
- รพ.จุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร
- รพ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
- รพ.ราชวิถี 2(รังสิต) จ.ปทุมธานี
- รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
- รพ.วัฒนแพทย์สมุย จ.สุราษฎร์ธานี
- รพ.พญาไทศรีราชา 2 จ.ชลบุรี
- รพ.ราชธานี หนองแค จ.สระบุรี