วันที่ 3 ธ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน ได้เปิดให้ผู้ประกันตนร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวง กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงเพดานค่าจ้างและเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ผ่านแบบสอบถามที่หน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th โดยผู้ประกันตนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 1 – 15 ธันวาคม 2567, แสดงความเห็นผ่านช่องทางเว็บไซต์ ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ตั้งแต่วันที่ 1-15 ธันวาคม 2567, ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา รวมถึงการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ เดิมกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2538) ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2538 จนถึงปัจจุบัน จึงเห็นสมควรปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน สำหรับร่างกฎกระทรวงฯ ใหม่นี้ สปส.ตั้งเป้าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป โดยค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ละคนให้กำหนดขั้นต่ำ-ขั้นสูง ดังนี้
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น เป็นเงินทดแทนและเงินสงเคราะห์สูงสุด ทั้งกรณีว่างงาน ชราภาพ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต เมื่อมีการปรับฐานค่าจ้างคำนวณเงินสมทบจาก 15,000 บาท เป็น 17,500 บาท 20,000 บาท และ 23,000 บาท โดยเป็นการปรับแบบขั้นบันได ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มขึ้น ดังนี้
ปัจจุบัน (ปี 2567) ฐานค่าจ้าง 15,000 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 750 บาทต่อเดือน โดยสิทธิประโยชน์เงินทดแทน และเงินบำนาญที่ได้รับ ประกอบด้วย
1 เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 7,500 บาทต่อเดือน (250 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 45,000 บาท)
2 เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 22,500 บาทต่อครั้ง
3 เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 7,500 บาทต่อเดือน
4 เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 90,000 บาท
5 เงินทดแทนกรณีว่างงาน 7,500 บาทต่อเดือน
6 เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 3,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 5,250 บาทต่อเดือน
ปี 2569 – 2571 ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 17,500 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 875 บาทต่อเดือน สิทธิประโยชน์เงินทดแทน และเงินบำนาญที่ได้รับเพิ่มขึ้น คือ
1 เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 8,750 บาทต่อเดือน (291 บาทต่อวัน สูงสุด 180 รวม 52,500 บาท)
2 เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 26,250 บาทต่อครั้ง
3 เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 8,750 บาทต่อเดือน
4 เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 105,000 บาท
5 เงินทดแทนกรณีว่างงาน 8,750 บาทต่อเดือน
6 เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 3,500 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 6,125 บาทต่อเดือน
ปี 2572 – 2574 ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 20,000 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาทต่อเดือน โดยสิทธิประโยชน์เงินทดแทน และเงินบำนาญที่ได้รับเพิ่มขึ้น คือ
1 เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 10,000 บาทต่อเดือน (333 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 60,000 บาท)
2 เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 30,000 บาทต่อครั้ง
3 เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 10,000 บาทต่อเดือน
4 เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 120,000 บาท
5 เงินทดแทนกรณีว่างงาน 10,000 บาทต่อเดือน
6 เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 4,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 7,000 บาทต่อเดือน
ปี 2575 เป็นต้นไป ที่จะมีการปรับเป็นค่าจ้าง 23,000 บาท จะต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุด 1,150 บาทต่อเดือนโดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้น คือ
1 เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย 11,500 บาทต่อเดือน (383 บาทต่อวัน สูงสุด 180 วัน รวม 69,000 บาท)
2 เงินสงเคราะห์คลอดบุตร 34,500 บาทต่อครั้ง
3 เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ 11,500 บาทต่อเดือน
4 เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 138,000 บาท
5 เงินทดแทนกรณีว่างงาน 11,500 บาทต่อเดือน
6 เงินบำนาญ กรณีส่งเงินสมทบ 15 ปี 4,600 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีส่งเงินสมทบ 25 ปี 8,050 บาทต่อเดือน