เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม 2567 ที่มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นายอภิวัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี พร้อมด้วย น.ส.สาวิตรี (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี สองสามีภรรยาเดินทางจาก จ.ชลบุรี เข้าร้องทุกข์ต่อ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี แจ้งว่า ตนเพิ่งเสียลูกในครรภ์ไปหลังจากอายุครรภ์ 8 เดือน และปวดท้องจะคลอด
โดยหมอเวรที่โรงพยาบาลให้ยาแรงระงับการคลอดก่อนกำหนด ต่อมาพบว่าเด็กในครรภ์เสียชีวิต ซึ่งทางโรงพยาบาลยังไม่ได้อธิบายอะไรให้เข้าใจ หรือแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด จึงเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
น.ส.สาวิตรี เล่าความเป็นมาก่อนที่จะสูญเสียลูกในครรภ์ว่า ตนตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 และได้ไปฝากท้องยังคลินิกแห่งหนึ่งใน อ.เมือง ซึ่งหมอที่คลินิกเป็นหมอประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจ.ชลบุรี ตลอดเวลาตนไปตรวจครรภ์ตามที่หมอนัดทุกครั้ง ซึ่งทารกในครรภ์เป็นเพศหญิง แข็งแรงดี
ช่วงฝากท้องตรวจครรภ์ครั้งสุดท้าย 20 ก.ย.67 หมอบอกว่าเด็กยังปกติดี และมีกำหนดคลอดปลายเดือน พ.ย.67 กระทั่งวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา จู่ๆ ตนเกิดปวดท้อง ปวดแบบเป็นๆ หายๆ เป็นช่วงๆ
กระทั่งเช้าวันที่ 22 ต.ค. ตนปวดท้องหนักมากเหมือนจะคลอดลูกและมีเลือดไหลออกมา สามีจึงรีบพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลได้พบกับหมอเวรที่ห้องคลอด ตนถามหาหมอที่ตนฝากท้องด้วย
จากนั้นพยาบาลจึงนำยายับยั้งการคลอดเป็นแบบแคปซูลมาให้รับประทานต่อเนื่องกัน 8 เม็ด ผ่านไป 2-3 ชั่วโมงอาการปวดท้องจะคลอดก็ไม่หาย พยาบาลมาบอกว่า หมอสั่งปรับยาให้แรงขึ้นเป็นยาฉีดให้ทางสายน้ำเกลือ 2 ขวด ยาฉีด 2 เข็ม ตั้งแต่ประมาณเที่ยงของวันที่ 22 ต.ค. และให้ไปนอนพักที่ห้องผู้ป่วยรวม
หลังจากได้รับยาตนรู้สึกใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืด ระหว่างนั้นตนเห็นหน้าจอเครื่องวัดชีพจรกับหัวใจเด็ก ซึ่งแสดงผลเป็นกราฟมีตัวเลขขึ้นลงอยู่ที่ 20 50 100 ซึ่งปกติตัวเลขต้องอยู่ที่ 100 ขึ้นไป และตนก็ได้ยินพยาบาลคุยกับหมอว่า หัวใจเด็กเต้นแค่นี้เองเหรอ ต่อมาพยาบาลได้ติดเครื่องกระตุ้นเด็กในครรภ์ให้
จนเช้าวันที่ 23 ต.ค. พยาบาลเข้ามาสอบถามอาการ ตนบอกว่าไม่ปวดท้องแล้ว แต่รู้สึกท้องแข็งๆ เหมือนเด็กจะไม่ดิ้น พยาบาลบอกว่า น่าจะเป็นผลจากยาที่ได้รับ ซึ่งตอนนั้นตนไม่ได้เอะใจอะไรคิดว่าเดี๋ยวหมอคงเข้ามาตรวจตามเวลา แต่ก็ไม่มีหมอมาเลย
จากนั้นช่วง 12.00 น. ตนขอย้ายไปอยู่ห้องพิเศษ เนื่องจากห้องพักผู้ป่วยรวมอยู่ใกล้กับที่ก่อสร้างทำให้เสียงดังนอนไม่ได้ หลังย้ายไปห้องพิเศษไม่ได้มีการติดเครื่องกระตุ้นเด็กให้อีก ต่อมา 18.00 น. พยาบาลได้เข้ามาดูชีพจร การเต้นของหัวใจเด็ก และใช้มือจับที่ท้องก็พบว่าเด็กไม่มีการตอบสนอง จึงพาตนไปอัลตร้าซาวด์ดูเด็กในท้องพบว่ามีความผิดปกติก่อนที่พยาบาลจะไปบอกหมอ
จากนั้นมีอาจารย์หมอซึ่งเป็นหมอที่ตนฝากครรภ์ด้วยมาบอกกับตนว่า “เด็กเสียชีวิตแล้ว เป็นความผิดปกติที่จะคลอดก่อนกำหนด” ตนจึงถามว่าเป็นแบบนี้ได้อย่างไร อาจจะเป็นเพราะยาที่ให้แรงไปหรือไม่ แล้วใครจะรับผิดชอบ? หมอตอบว่า “ไม่ควรมีใครต้องรับผิดชอบ เพราะเกิดจากเด็กเอง ยาที่ให้เป็นยาที่ใช้กันทั่วโลกอยู่แล้ว”
ต่อมา 13.00 น. วันที่ 24 ต.ค. หมอทำการผ่าตัดเอาเด็กที่เสียชีวิตออก โดยตนกับสามีขอให้ทางโรงพยาบาลส่งศพเด็กไปชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง และหมอให้ตนนอนฟักฟื้นหลังผ่าตัดที่โรงพยาบาลจนถึงเช้าวันที่ 26 ต.ค. ก่อนจะกลับบ้านได้ โดยทางโรงพยาบาลออกใบความเห็นแพทย์ระบุ “วินิจฉัยโรค ทารกเสียชีวิตในครรภ์ อายุครรภ์ 32 สัปดาห์4 วัน ช่วงฝากครรภ์อัลตร้าซาวด์พบลักษณะผิดปกติ”
น.ส.สาวิตรี กล่าวอีกว่า ตนกับสามีหลังทราบว่าตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 เป็นผู้หญิงก็ดีใจกันมาก แม่ดูแลตัวเองอย่างดี สามีพาไปตรวจครรภ์ตามนัดทุกครั้ง ซึ่งลูกก็ปกติแข็งแรงดีมาตลอด แม้กระทั่งเช้าวันที่ 22 ต.ค.ที่ปวดท้องจะคลอดแพทย์ตรวจก็ยังพบว่าเด็กปกติดี ตนกับสามีจึงตั้งข้อสงสัยว่าหลังจากที่หมอให้ยาที่แรงขึ้นอาจจะมีผลต่อเด็กในครรภ์หรือไม่
และระหว่างที่นอนอยู่โรงพยาบาลตั้งแต่ 12.00 น. วันที่ 22 ต.ค.ที่หมอให้ยาแรงขึ้นจนถึงเย็นวันที่ 23 ต.ค. ไม่มีหมอมาดูอาการของตนเลย จนมาทราบอีกทีตอนเด็กเสียชีวิตแล้ว ตนกับสามีต้องมาเสียลูกไปทั้งๆ ที่อุ้มท้องมาจนถึง 8 เดือน จึงอยากจะทราบสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กที่แท้จริง ซึ่งทางโรงพยาบาลยังไม่ได้อธิบายอะไรให้เข้าใจ หรือแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด ตนกับสามีจึงตัดสินใจเข้าร้องทุกข์มูลนิธิปวีณาฯ ช่วยให้ความเป็นธรรมด้วย
นางปวีณา กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับสองสามีภรรยาที่ต้องมาเสียลูกไปเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจยิ่ง กรณีนี้แม่ไปโรงพยาบาลได้รับการตรวจจากหมอเวร ซึ่งอาจไม่ใช่หมอเฉพาะทาง หรือหมอสูตินารีเวช และการให้ยาที่แรงขึ้นควรจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเคสที่มีความเสี่ยง
ทั้งนี้จะประสาน พ.ต.อ.ศุภฤกษ์ อยู่ไพร ผกก.สภ.เมืองชลบุรี และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิปวีณาฯ พาสองสามีภรรยาไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และส่งศพเด็กไปชันสูตรที่นิติเวช รพ.ตำรวจ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง และประสาน นพ.กฤษณ์ สกุลแพทย์ สสจ. ชลบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ความเป็นธรรมกับพ่อแม่เด็ก โดยมูลนิธิปวีณาฯ จะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป