อย. ได้ออกมาชี้แจง กรณี สารตกค้างที่ตรวจพบในองุ่นไชน์มัสแคท สรุปแล้วว่ากินได้หรือไม่ งานนี้ไขข้อข้องใจชัดเจน
อย. แจงสารตกค้างที่ตรวจพบในองุ่นไชน์มัสแคทมีเพียงตัวอย่างเดียว ที่พบคลอร์ไพริฟอส ซึ่งกฎหมายห้ามใช้ ส่วนสารตกค้างอื่นๆ มีทั้งกลุ่มที่กฏหมายระบุค่าความปลอดภัย ซึ่งผลการตรวจไม่เกินเกณฑ์ความปลอดภัยที่กำหนด และกลุ่มสารกำจัดศัตรูพืชที่ระดับสากล
ไม่ได้จัดอยู่ในรายการเฝ้าระวังเนื่องจากไม่มีข้อมูลการก่ออันตราย ขอผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก ทั้งนี้ อย. ได้ยกระดับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และขอให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการล้างผักผลไม้อย่างถูกวิธี เพื่อลดสารตกค้าง
จากการที่มีการแถลงผลการตรวจองุ่นไชน์มัสแคท ซึ่งทำให้ประชาชนบางกลุ่มเข้าใจผิดและเกิดความ ตื่นตระหนกนั้น นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากข่าวที่ระบุพบมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช 50 รายการใน 24 ตัวอย่าง โดยข้อเท็จจริงแล้วผลการตรวจพบว่ามีสารกำจัดศัตรูพืช 36 รายการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีความปลอดภัย ส่วนสารกำจัดศัตรูพืช อีก 14 รายการ เป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ระดับสากล ไม่ได้จัดอยู่ในรายการเฝ้าระวัง
เนื่องจากไม่มีข้อมูลการก่ออันตราย แต่จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานที่ไม่เกิน 0.01 ppm ซึ่งผลการตรวจพบเกินเพียงเล็กน้อย จึงสามารถรับประทานองุ่นไชน์มัสแคทได้ แต่ควรล้างให้ถูกวิธีเพื่อลดสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างดังกล่าว กรณีล้างด้วยน้ำเปล่า ให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหล ถูลูกองุ่นไปมาเบาๆ ล้างผ่านน้ำสะอาดไหลซ้ำอีกไม่น้อยกว่า 30 วินาที กรณีล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู/เบคกิ้งโซดา) ผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนชา ต่อน้ำสะอาด 4 ลิตร แช่ให้ท่วมองุ่น นาน 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด กรณีล้างด้วยน้ำเกลือ ผสมเกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 2 ลิตร แช่ให้ท่วมองุ่น 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ทั้งนี้ อย. ได้ยกระดับการเฝ้าระวังผักผลไม้นำเข้าเชิงรุก โดยหากพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินเกณฑ์ตามที่กฏหมายกำหนด จะถูกกักไม่สามารถนำเข้าได้และถูกดำเนินคดี และในปีงบประมาณ 2568 นี้ อย. ยังมีแผนร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการตรวจโรงคัดบรรจุผักและผลไม้ทั่วประเทศ และเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ส่งตรวจวิเคราะห์หาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง จำนวน 1,530 ตัวอย่าง เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค