ล่าสุดวันที่ 22 ต.ค. 2567 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้กล่าวถึงกรณีเลขบัตรประชาชนบอสพอล ที่มีเลข 5 นำหน้าว่า ได้มีการตรวจสอบทางทะเบียนราษฎร์ พบว่าเป็นการแจ้งตกหล่นในการสำรวจ และมีการเพิ่มชื่อทีหลัง แต่ยืนยันว่าเป็นคนไทย ยังไม่พบว่าเป็นต่างด้าว อย่างไรก็ตามก็จะต้องมีการสืบสวนเพิ่มเติม
สำหรับความหมายของเลขบัตรประชาชนทั้ง 13 หลัก
เลขบัตรประชาชนหลักที่ 1 เลขหลักนี้หมายถึงประเภทบุคคล ซึ่งประเภทบุคคลแบ่งเป็น 8 ประเภท ดังนี้
เลข 1 : คนที่เกิดและมีสัญชาติไทยที่แจ้งเกิดภายในระยะเวลา 15 วัน และเริ่มใช้กับคนที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527
เลข 2 : คนที่เกิดและมีสัญชาติไทยแต่แจ้งเกิดเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ หมายความว่า เด็กคนใดก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไป แล้วบังเอิญว่าพ่อแม่ผู้ปกครองลืมหรือติดธุระ ทำให้ไม่สามารถไปแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขตภายใน 15 วันตามกฎหมายกำหนด เมื่อไปแจ้งภายหลัง เด็กคนนั้นก็จะกลายเป็นบุคคลประเภท 2
เลข 3 : คนไทยและคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในสมัยเริ่มแรก (คือตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2527)หมายความว่า บุคคลใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทย มาตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 คนนั้นถือว่าเป็นบุคคลประเภท 3
เลข 4 : คนไทยและคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญคนต่างด้าวแต่แจ้งย้ายเข้า โดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ในสมัยเริ่มแรก หมายความว่า คนไทยหรือคนต่างด้าว ที่มีใบสำคัญคนต่างด้าวที่อาจจะเป็นบุคคลประเภท 3 คือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ทันได้เลขประจำตัวก็ขอย้ายบ้านไปเขตหรืออำเภออื่น ก่อนช่วงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ก็จะเป็นบุคคลประเภท 4 ทันที
เลข 5 : คนไทย และ บุคคลต่างด้าวได้รับการอนุมัติให้มีการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน ในกรณีที่มีการตกสำรวจ หรือเป็นกรณีที่มี 2 สัญชาติ
เลข 6 : ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว กล่าวคือ คนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย เพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย
เลข 7 : บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย คนกลุ่มนี้ในทะเบียนประวัติจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7
เลข 8 : คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือ ผู้ที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือคนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทย ตั้งแต่หลังวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 เป็นต้นไปจนปัจจุบัน คนกลุ่มนี้เลขในทะเบียนประวัติจะขึ้นด้วยเลข
คนทั้ง 8 ประเภทนี้ จะมีเพียงประเภทที่ 3, 4 และ 5 เท่านั้น ที่จะมีบัตรประชาชนได้เลย ส่วนประเภทที่ 1 และ 2 จะมีบัตรประชาชนได้ ก็ต่อเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ทำบัตรประจำตัวประชาชน คืออายุ 15 ปี แต่สำหรับบุคคลประเภทที่ 6, 7 และ 8 จะมีเพียงทะเบียนประวัติเล่มสีเหลืองเท่านั้นจะไม่มีการออกบัตรประชาชนให้
เลขบัตรประชาชนหลักที่ 2 – หลักที่ 5
ตัวเลขหลักนี้บนบัตรประชาชนหมายถึงรหัสของสำนักทะเบียนที่ออกเลขประจำตัวประชาชนให้
- เลขหลักที่ 2 : แสดงรหัสเขตการปกครองที่มีตั้งแต่ 1-9 ภาค
- เลขหลักที่ 3 : หมายถึงจังหวัดที่อยู่ในภาคนั้น ๆ อีกที
- เลขหลักที่ 4-5 : หมายถึงเขตหรืออำเภอในจังหวัดนั้น ๆ โดยเลขจะเริ่มตั้งแต่ 01 ไล่ลงไป ส่วนถ้าเป็นเขตเทศบาลจะไล่ตั้งแต่เลข 99 ย้อนลงมา
เลขบัตรประชาชนหลักที่ 6 – หลักที่ 10
- ตัวเลขหลักนี้บ่งบอกถึงกลุ่มของบุคคลแต่ประเภท โดยสำนักงานทะเบียนจะจัดกลุ่มเรียงไปตามลำดับ หรือถ้าเป็นเด็กเกิดใหม่จะหมายถึงเลขประจำตัวในเล่มที่ของสูติบัตรตามที่ใบแจ้งเกิดที่อำเภอออกให้ คือเลขประจำตัวในทะเบียนบ้าน
เลขบัตรประชาชนหลักที่ 11 – หลักที่ 12
- เลขบัตรประชาชนหลักนี้หมายถึงลำดับที่ของบุคคลในแต่ละกลุ่มประเภท ซึ่งเป็นการจัดลำดับว่าคุณเป็นคนที่เท่าไหร่ในกลุ่มของบุคคลนั้น ๆ อีกที
ลขบัตรประชาชนหลักที่ 13
- เลขบัตรประชาชนหลักที่ 13 จะเป็นตัวเลขที่ตรวจสอบความถูกต้องของเลขบัตรประชาชนทั้ง 12 หลักก่อนหน้า โดยตัวเลขหลักที่ 13 จะมาจากการคำนวณโดยใช้หลักการเลขคณิตอดุลาร์