นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในเร็วๆนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก จะมีการหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานเตรียมนำเสนอ และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ในรูปแบบดิจิทัลวอลเล็ตด้วย เพื่อดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 3% ในปีหน้า
การแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ยืนยันว่าดำเนินการต่อ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพัฒนาระบบดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อเชื่อมระบบทั้งหมด ส่วนจะเริ่มแจกเงินได้เมื่อใดนั้น ต้องรอที่ประชุมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อน และขอย้ำอีกครั้ง เงิน 10,000 บาทถึงมือประชาชนที่ได้สิทธิทุกคนครบถ้วนอย่างแน่นอน
นายจุลพันธ์กล่าวว่า สำหรับผลของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท เฟสแรก สำหรับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการนั้น ถือว่าการใช้จ่ายมีการกระจายตัวที่ดี ถือว่ามีการหมุนของเม็ดเงินที่ค่อนข้างเร็ว การค้าขายในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศก็ดูมีความคึกคักขึ้นมา แต่จะนิ่งนอนใจกับแค่ผลลัพธ์เท่านี้ไม่ได้ รัฐบาลต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเปิดลงทะเบียนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน เพื่อรับสิทธิโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทนั้น เหตุที่เลื่อนมาอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล อย่างไรก็ดี รัฐบาลยืนยันว่าจะเปิดลงทะเบียนให้แน่นอน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ภายในเดือน พ.ย.นี้
ส่วนที่ประชาชนและภาคเอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลทำมาตรการ “คนละครึ่ง” ต่อนั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า รัฐบาลรับพิจารณาข้อเสนอทั้งหมด ไม่ได้มีการปิดกั้นทางรัฐบาลชุดปัจจุบัน เราไม่ได้มีการยึดติดกับเรื่องศักดิ์ศรี เพราะเราเอาประโยชน์ของชาวบ้านเป็นหลัก และถ้าโครงการที่เสนอมายังมีประโยชน์อยู่รัฐบาลก็ทำได้
ด้านนายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ทางสมาคมได้เสนอความเห็นต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้นำมาตรการ “ช็อปดีมีคืน” กลับมาใช้อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันที่จะกระตุ้นมู้ดของการจับจ่ายใช้สอยได้เป็นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ยังไม่เริ่มใช้หรืออยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติการออกใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามที่ กรมสรรพากรกำหนด โดยขอเสนอให้มีการลดหย่อนภาษีสูงสุด 50,000 บาท ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่าแสนล้านบาท
ขณะเดียวกันทางสมาคมได้ขานรับนโยบายรัฐ ร่วมคิกออฟ “โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ด้วยการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ พร้อมร่วมจัดมหกรรมลดราคาสินค้าต่อเนื่องตลอด 5 เดือนเต็ม ตั้งแต่เดือน ก.ย.67-ม.ค.68
โดยมีสมาชิกภายใต้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมใจลดราคาสินค้ากันอย่างคับคั่ง ด้วยโปรโมชันหลากหลาย เช่น การลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้กับผู้ประสบอุทกภัย และแคมเปญการตลาดอื่นๆ โดยโครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ และช่วยสร้างบรรยากาศจับจ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีต่อเนื่องถึงปี 68 ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนได้มากกว่า 110,000 ล้านบาท.