GISTDA เผยแล้ว พายุสุริยะ กระทบไทยระดับไหน

GISTDA เผยแล้ว พายุสุริยะ กระทบไทยระดับไหน

GISTDA เผยแล้ว พายุสุริยะ กระทบไทยระดับไหน

วันที่ 17 พฤษภาคม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า GISTDA โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ รายงานว่า ได้ติดตามปรากฏการณ์ “พายุสุริยะ” มาอย่างต่อเนื่อง และจากการปะทุบนดวงอาทิตย์ เมื่อวันพุธที่ 14 พฤษภาคม 2568 ทำให้มีการปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (Coronal mass ejection หรือ CME) ขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดพายุแม่เหล็กโลกระดับปานกลาง (G2) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ละติจูดสูง เช่นอเมริกาเหนือ และยุโรปตอนเหนือ รวมทั้งอาจจะมีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า การสื่อสาร และการแพร่กระจายของคลื่นวิทยุ HF ในพื้นที่ตามที่กล่าวมา

สำหรับประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณละติจูดต่ำ (ประมาณ 5°–20° เหนือเส้นศูนย์สูตร) ผลกระทบจากพายุแม่เหล็กระดับ G2 มักไม่รุนแรงและไม่ส่งผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตาม อาจเกิดผลทางอ้อมในบางกรณี เช่น ความคลาดเคลื่อนของระบบนำทางด้วย GPS หรือสัญญาณ HF บางประเภท ซึ่งโดยรวมยังมีโอกาสน้อย

สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดจากการปะทุของจุดมืด AR4087 ร่วมกับลมสุริยะความเร็วสูงจาก หลุมโคโรนา (Coronal Hole) หมายเลข 48 หรือ CH48 ซึ่งปัจจุบันยังคงปรากฏอยู่บนดวงอาทิตย์ และอาจส่งผลต่อสนามแม่เหล็กโลกต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์หน้า แต่คาดว่าผลกระทบจะยังอยู่ในระดับไม่รุนแรง โดยที่ขณะนี้ยังไม่พบรายงานผลกระทบใด ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ทีมปฏิบัติการทางสภาพอวกาศ (space weather team) ได้ติดตามค่าลมสุริยะความเร็วสูง (High Speed Streams – HSS) และสนามแม่เหล็กระหว่างดาว (Interplanetary Magnetic Field – IMF) อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพอวกาศในแต่ละระยะ หากมีข้อมูลอัพเดทจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ จากการติดตามของ GISTDA ก่อนหน้านี้ มีพายุสนามแม่เหล็กระดับรุนแรง (G4) เกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน มกราคม และ เมษายน 2568 และไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย