ฝ่ายการเมืองตบเท้ารำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา “วันนอร์” มอง 14 ตุลาเป็นมรดกอันล้ำค่าการแสดงออกทางการเมือง ด้าน“สมคิด” ยันรัฐบาลฟังเสียงข้างน้อยและเคารพความเห็นต่าง ขณะที่“ณัฐพงษ์” พร้อมรับคมหอก สานต่อ รธน.ฉบับประชาชน
เมื่อวันที่ 14 ต.ค.เวลา 07.30 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว คณะกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา จัดงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ครบรอบ 51 ปี โดยมีการทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ 14 รูป บริเวณด้านหน้าอาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยมี นายประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยญาติวีรชน ร่วมกันตักบาตรพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่วีรชนผู้กล้า 14 ตุลา
จากนั้นมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 3 ศาสนา ทั้ง พุทธ อิสลาม และคริสต์ จากนั้นจะมีการวางพวงมาลา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร นางอังคณา นีละไพจิต สมาชิกวุฒิสภา(สว.) และตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคเป็นธรรม และคณะก้าวหน้า นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และตัวแทนเยาวชนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ
โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ว่า เนื่องในวาระครบรอบ 51 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยผู้รักในเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความกล้าหาญ แม้ว่าการต่อสู้ในวันนั้นต้องแลกด้วยเลือดเนื้อ และชีวิตของวีรชนผู้กล้า แต่ได้สร้างแรงบันดาลใจ และปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณค่าของประชาธิปไตย ความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลา จึงเป็นบทเรียนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่ได้ย้ำเตือนให้เราได้ตระหนักภัยร้ายแรงของการปกครองแบบเผด็จการ ขณะเดียวกันได้ประจักษ์ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ถือว่าคนรุ่นปัจจุบันได้รับมรดกอันล้ำค่าที่สุดจากวีรชน 14 ตุลา นั่นคือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่เราต้องร่วมกันปกป้อง
ด้านนายสมคิดกล่าว ในนามรัฐบาลว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและพลังของผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประเทศชาติปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพี่น้องประชาชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างความสามัคคีความปรองดองที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและใช้แนวทางสันติวิธีในการหาทางออกร่วมกันโดยรับฟังเสียงข้างน้อย และเคารพความเห็นต่าง รวมทั้งเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้แสดงออก ตามความคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และช่วยกันจรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีแต่ความรัก ความสมานฉันท์ตลอดไป
ขณะที่นายณัฐพงษ์กล่าวว่า เหตุการณ์ในวันนี้เราไม่ได้มาเพียงแต่รำลึกความเสียสละการต่อสู้ของวีรชนอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือการรำลึกถึงวัตถุประสงค์ความเป็นมาถึงข้อต่อสู้ข้อเรียกร้องของประชาชนในอดีตว่าเขาต้องลงท้องถนนมาต่อสู้ในสิ่งต่างๆเหล่านี้เพราะอะไร ตนในวัย 37 ปีถ้าจะให้มากล่าวคำรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ตนเกิดไม่ทัน บอกได้ว่าตนเดียงสาทางการเมือง คงไม่สามารถที่จะรำลึกถึงความคับแค้นใจของพี่น้องได้ แต่ในยุคนี้สิ่งที่ตนมีร่วมกับทุกคน คือเจตจำนงทางการเมือง ต้องการพัฒนาการเมืองประเทศในการผลักดันสังคมไทยไปข้างหน้า แม้ตนไม่ได้อยู่ร่วม ต่อสู้ในวันที่ 14 ตุลา 16 ด้วย แต่คิดว่าเรายังไปไม่ถึง เช่นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วันนี้พวกเราก็ต่อสู้เรียกร้องกันอยู่ ยังมีบางอย่างที่ประสบปัญหาและอุปสรรคการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คนที่ออกมาต่อสู้และถูกเล่นงานกันแกล้งคดีทางการเมืองยังไม่ได้รับความเป็นธรรม หรืออีกหลายกรณี เช่น หลายคนที่เป็นจำเลยในคดี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังหลบหนีอยู่ ยังไม่ถูกนำตัวมาดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม สิ่งต่างๆเหล่านี้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตได้กำลังสอนพวกเราอยู่ว่าวันนี้กระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทยอาจจะยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน ตนเชื่อว่ารัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างควบคู่กันได้
นายณัฐพงศ์กล่าวต่อว่า กระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตอนนี้หลายฝ่ายหลายพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเราเห็นด้วยตรงกันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าประชามติเพียงแค่สองครั้งก็เพียงพอแล้ว แต่ติดปัญหาอุปสรรคในการบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นจึงอยากให้ประธานรัฐสภา บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของรัฐสภา เชื่อว่าถ้าเราเดินหน้าการทำประชามติเพียงแค่สองครั้งเราก็สามารถทำรัฐธรรมนูญได้ทัน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ยืนยันว่าตนจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการถ่วงดุลและตรวจสอบรัฐบาล และคิดว่าทุกยุคทุกสมัยไม่ใช่เฉพาะ 14 ตุลาก็มีการต่อสู้ ดังนั้นเมื่อตนก้าวเท้าเข้ามาสู่การเมืองแล้วก็พร้อมที่จะรับคมหอกคมดาบ
ทั้งนี้นายประสารชี้แจงว่า อนุสรณ์สถานแห่งนี้ใช้งานมา 23 ปีเต็ม จึงจะมีการปรับปรุงอนุสรณ์สถานใหม่ เพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ ที่เป็นสาธารณะ ให้ทุกคนเข้าใช้พื้นที่นี้สามารถใช้ได้อย่างสมบูรณ์คุณค่า และเป็นพื้นที่ของประชาชนทุกคน โดยตั้งงบประมาณไว้ 50 ล้านบาท วันนี้มีผู้บริจาคเข้ามาแล้ว 20 ล้านบาท ยังต้องการอีก 30 ล้านบาท เพราะฉะนั้นถ้าใครคิดว่าจะร่วมกันทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ของประชาชนได้ก็ยินดี