กมธ.กฎหมาย เผยจำเลยคดีตากใบ 14 คน หนีไปต่างประเทศ 2 ยังจับใครไม่ได้ จะหมดอายุความ 25 ต.ค.นี้ ชี้อยู่ที่สำนึกของแต่ละคน
วันที่ 9 ต.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาฯ แถลงผลการประชุม กมธ.ว่า ที่ประชุมพิจารณาติดตามผู้ต้องหาคดีตากใบ หลังจากที่ศาลจังหวัดนราธิวาส มีการประทับฟ้อง และออกหมายจับจำเลย 7 คน และอัยการสูงสุดเห็นแย้งกับพนักงานสอบสวน ที่มีคำสั่งสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน รวมทั้งหมด 14 คน ซ้ำกับจำเลยเดิม 1 คนนั้น
คดีดังกล่าวมีผู้ต้องหาจำนวน 14 คน โดยมีผู้ต้องหาที่อยู่ในประเทศไทย 12 คน เป็นข้าราชการและยังรับราชการอยู่ 2 คน ซึ่งทางตำรวจได้ประสานกับผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาทั้ง 2 คนแล้ว และคาดว่ามีผู้ต้องหาอีก 2 คนอยู่ต่างประเทศ โดยได้ประสานไปยังกองการต่างประเทศเพื่อออกหมายติดตามตัวแล้ว
“หากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้ก่อนวันที่ 25 ตุลาคม หรือภายในวันที่ 25 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันหมดอายุความในคดีดังกล่าว ทางอัยการยืนยันว่า พร้อมเตรียมประทับรับฟ้อง และยื่นฟ้องเรียบร้อย หากจับคนไหนมาได้แม้ในวันสุดท้ายก็ตาม”
นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กมธ.ยังกังวลว่า หากปล่อยให้ขาดอายุความโดยไม่จับกุมใครเลยเกรงว่าจะเกิดสถานการณ์ที่ไม่ดีในพื้นที่ความขัดแย้ง เพราะเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา มีเหตุวางระเบิดที่บ้านพักนายอำเภอตากใบ หากปล่อยให้คดีตากใบขาดอายุความ ความรุนแรงจะมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งรองผู้บัญชาการภาค 9 ชี้แจงว่า เท่าที่มีการสอบสวนเหตุการณ์วางระเบิดที่บ้านพักนายอำเภอนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีตากใบ
นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วน กอ.รมน.และสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ได้ย้ำว่ามีการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม กมธ.เห็นว่าควรให้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่ในการเตรียมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคดีหมดอายุความ เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อถามว่าหากคดีหมดอายุความ และไม่สามารถจับกุมจำเลยได้เลย จะมีความรับผิดชอบจากใครหรือไม่ เช่นกรณี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ลาประชุมสภาฯไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ ควรจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่
นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของจำเลยแต่ละคน เพราะไม่มีข้อกฎหมายใดที่จะตอบแทนเรื่องนี้ได้ ต้องอยู่ที่สำนึกของบุคคลคนนั้นว่าจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร หากทราบอยู่แล้วว่ามีหมายจับแทนที่จะมามอบตัวสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม แต่กลับหันหลังให้กระบวนการยุติธรรมปล่อยให้ขาดอายุความ ก็ต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของบุคคลคนนั้น